Our links

วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน และเมืองเชียงแสน

เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน และเมืองเชียงแสน

ประมาณ พ.. ๑๑๘๑ ได้เกิดเมืองชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสนขึ้นบริเวณดอยตุง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตามตำนานเล่าว่า พระยาลวจังกราชได้รับบัญชาจากพระอินทร์ให้ลงมา   ปกครองเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นไม่มีกษัตริย์ปกครองและพระยาอนิรุทธได้เชิญเจ้าเมืองทุกเมืองไปประชุมตัดศักราช เมืองนี้ไม่มีกษัตริย์ไปประชุม จึงทูลขอผู้ปกครองจากพระอินทร์ เทพบุตรลวจังกราชจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมทั้งมเหสีและบริวารไต่ตามบันไดเงินลงมาบริเวณดอยตุง ชาวบ้านจึงพร้อมใจให้เป็นผู้ปกครองเมืองนี้ชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสน และทรงมีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายพระองค์จนถึงพระยาลาวเมง พระราชบิดาพระยามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องจากตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน

มีนักวิชาการบางท่านตีความเรื่องนี้ว่า พระยาลวจังกราชนั้น เดิมเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง เดิมคงเรียกว่า ปู่เจ้าลาวจก เพราะเป็นผู้มีจอบมาก (จก = จอบ) และให้ประชาชนเช่าจอบเพื่อทำนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำจอบเป็นเทคนิคชั้นสูง ผู้ใดผลิตจอบได้ก็จะสามารถควบคุมการผลิตได้ ปู่เจ้าลาวจกคงจะได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าเผ่าไทบริเวณนั้น และปกครองเมืองเงินยางเชียงแสน และมีเชื้อสายสืบมาจนถึงพระยามังราย

เมืองหริภุญไชย

นอกเเหนือจากเมืองต่างๆ ดังกล่าวนามข้างต้นแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซากเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองท่ากาน เวียงมะโน เวียงเถาะ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของลำพูน อาจารย์ ร..ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ในรายงานเรื่องแคว้นหริภุญไชย : โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ได้กล่าวถึงเมืองลำพูน ซึ่งตรงสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ปกครองสุโขทัยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง จาก     หลักฐานต่างๆ พอช่วยให้ทราบเรื่องราวของหริภุญไชยได้พอสรุปดังนี้

เมืองนี้ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดย ฤาษี ชื่อ วาสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทูลเชิญ     พระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครอง ราว พ.. ๑๒๐๐ พระนางได้นำบริวารและพระสงฆ์เสด็จขึ้นมาทางน้ำมาปกครองเมืองหริภุญไชย และมีเชื้อสายของพระนางปกครองสืบมาหลายพระองค์ นับเวลานานถึงหกร้อยปี จนกระทั่งถึงสมัยพระยาบาหรือยีบา ได้เสียเอกราชแก่พระยามังรายในราว พ.. ๑๘๒๔ หริภุญไชยจึงมีสภาพเป็นเมืองหนึ่งของดินแดนล้านนาไทยเรื่อยมา และในสมัยพระยากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองลำพูนให้เจริญขึ้น และมอบให้เชื้อสายของพระองค์ไปปกครองเรื่อยมา อนึ่งในสมัยพระนางจามเทวีนี้ พระนางได้ทรงสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นครให้ราชบุตรปกครองอีกเมืองหนึ่งด้วย

เมืองหริภุญไชยเป็นเมืองโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีศิลปกรรมที่มีลักษณะของตนเอง คือ ศิลปสกุลช่างหริภุญไชย ตลอดจนพบว่ามีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญไชยด้วย ปัจจุบันหริภุญไชยหรือลำพูนมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือของไทย

 

 


จิตร ภูมิศักดิ์, ความเป็นมาของไทยสยาม, หน้า ๒๔๔

พระโพธิรังสี, จามเทวีวงศ์ แปลจากต้นฉบับภาษาบาลี โดยพระปริยัติธรรมธาดาและพระญาณวิจิตร (พระนคร : รุ่งวัฒนา) ๒๕๑๖

ตำนานมูลศาสนา, พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์ ๒๕๑๙) หน้า ๑๒๘

ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย แสง มนวิทูร หน้า ๙๒

Danold Swearer, "Myth, Legend and History in the Northern thai Chronicles” Journal of Siam Society, V 62 pi, Jan 1974 p 66 - 87

วันศุกร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงศ์มังราย และสมัยพม่าปกครอง)

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว*

เมืองเชียงใหม่มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานีของ อาณาจักรล้านนาไทยมาตั้งแต่พระยามังรายได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.. ๑๘๓๙ นับถึงปัจจุบันมีอายุร่วมเจ็ดร้อยปี และเมืองเชียงใหม่ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ตลอดมา เชียงใหม่มีฐานะเป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ ๒๐๐ ปี (ระหว่าง พ.. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑) ในปี พ.. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่กษัตริย์พม่าชื่อบุเรงนอง และได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานร่วมสองร้อยปี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและ      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงช่วยเหลือล้านนาไทยภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้าน ในการทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงเทพ และมีเชื้อสายของพระยากาวิละซึ่งเรียกว่าตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครองเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และลำปางสืบต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราชได้ยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลพายัพ และเมื่อปี พ.. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงการปกครองแบบจังหวัด เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนปัจจุบัน

เพื่อให้สะดวกในการอ่านเรื่องราวของเชียงใหม่และล้านนาไทย จึงขอแบ่งยุคสมัยใน  ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่เป็น ๔ สมัย ดังนี้

๑.     สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.. ๑๘๓๙)

๒.    สมัยราชวงศ์มังรายปกครอง (.. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑)

๓.     สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (.. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗)

๔.     สมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย (.. ๒๓๑๗ - ๒๔๗๖)

สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.. ๑๘๓๙)

ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้มีบ้านเมืองและชุมชนใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมืองหริภุญไชย เมืองพะเยา และยังได้มีการค้นพบเมืองเล็กๆ อีกมากมายหลายเมืองตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เวียงฝาง เวียงปรึกษา เวียงสีทวง เวียงพางคำ เวียงสุทโธ   เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน) ฯลฯ เป็นต้น เชื่อกันว่าบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวและเมืองต่างๆ ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พอสังเขปดังนี้

จากข้อมูลเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการที่ชุมชนเผ่าไทเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนบนของภาคเหนือในสมัยแรกนั้น มีผู้นำสำคัญ ๒ ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมารและราชวงศ์ลวจังกราช ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และตำนานสุวรรณโคมคำ

ราชวงศ์สิงหนวัติกุมาร ตำนานเล่าว่ามีราชบุตรชื่อ สิงหนวัติกุมาร ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองไทยเทศเมื่อมหาศักราช ๑๗ (ตอนต้นพุทธกาล) มาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแม่น้ำโขงและไม่ไกลจากเมืองสุวรรณโคมคำมากนัก เมืองใหม่ชื่อ นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร ข้อความในตำนานต่อมาสับสนแต่จับใจความได้ว่า เมืองนาคพันธุ์ฯ นี้ได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน เมืองนี้มีกษัตริย์ปกครองสืบมาถึง พ.. ๑๕๔๗ มีคนจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในเวลากลางคืน คืนนั้น เมืองนี้ได้เกิดภัยพิบัติฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว และเมืองได้ล่มจมเป็นหนองน้ำไป ชาวเมืองที่ไม่ประสบภัยได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงปรึกษาขึ้นราชวงศ์สิงหนวัติก็สิ้นสุดลง สำหรับศักราชส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน



* ภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่

ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, “โยนกวารสารเมืองโบราณ ๒ (๓ เมษายน มิถุนายน ๒๕๑๙)หน้า ๔๖ - ๕๐

มานิต วัลลิโภดม, ตำนานสิงหนวัติกุมารฉบับสอบค้น (พระนคร : โรงพิมพ์สำนัก ๒๕๑๖) หน้า ๒๗ - ๙๘ และ M. Vickery “The LION Prince and Related Remarks on Northern History” Journal of Siam Society V. 64 Part I, Jan 1976 Page 362 - 63

ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน

Our links