Our links

วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (.. ๒๔๒๗ - ๒๕๗๖)[1]
ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าเชียงใหม่นับตั้งแต่ตกเป็นประเทศราชของไทยใน พ.. ๒๓๑๗ จนถึงช่วงก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕ สถานการณ์โดยทั่วไปในเชียงใหม่อาจกล่าวได้ว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดต่อรัฐบาลกลาง แม้ว่าวิธีการควบคุมเมืองเชียงใหม่จะไม่รัดกุมเท่าไรนักก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมกิจการภายในมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง       ในที่สุดก็ผนวกเอาเชียงใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยนั้น เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคแห่งการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก ด้านการปกครองหัวเมืองมีการยกเลิกระบบการปกครองเมืองประเทศราชซึ่งเคยปฏิบัติกันมาช้านาน โดยจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน มีข้าหลวงเทศาภิบาลที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งไปปกครองและขึ้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นจึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติรัฐ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์
มูลเหตุของการปฏิรูปการปกครอง เกิดจากปัญหา ๒ ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับ     กิจการป่าไม้และปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากอังกฤษเข้าครอบครองดินแดนพม่า ทำให้คนในบังคับอังกฤษเข้ามามีความสัมพันธ์กับเชียงใหม่มากขึ้นและกลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมา
ประการแรก ปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้ ที่มาของปัญหาเกิดจากแต่เดิมป่าไม้ทั้งหมดเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานและยังไม่มีราคามากนัก มีการตัดไม้ขายแต่น้อย การขายมักจะอยู่ในรูปเจ้าของป่าอนุญาตให้ลูกหลานใช้บ่าวไพร่ตัดขายคราวละ ๑๐๐ - ๒๐๐ ต้น โดยไม่คิดเงินทอง[2] ต่อมาคนในบังคับอังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และกิจการได้ขยายตัวอย่าง     รวดเร็ว ป่าไม้จึงมีมูลค่ามหาศาล เกิดการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ทำสัมปทานป่าไม้ ซึ่งเจ้าของป่าไม้ก็ให้สัมปทานซ้ำซ้อนในป่าเดียวกันเสมอ จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทฟ้องร้องต่อกงศุลอังกฤษและรัฐบาลไทยเป็นคดีความมากมาย ดังปรากฏว่า พ.. ๒๔๑๖ ที่เชียงใหม่มีคดีฟ้องร้องด้วยเรื่องป่าไม้ ๔๒ เรื่อง เมื่อมีการชำระคดีต้องยกฟ้อง ๓ เรื่อง อีก ๑๑ เรื่อง มีหลักฐานว่าจำเลยคือเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (.. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙) ผิดจริงต้องชดใช้เป็นค่าปรับถึง ๔๖๖,๐๑๕ รูปี[3] ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก รัฐบาลกลางจึงจ่ายให้ก่อนโดยให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ผ่อนใช้ ๗ ปี[4]
ประการที่สอง ปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน หัวเมืองชายแดนที่เกิดเป็นปัญหาคือบริเวณที่เรียกว่าหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า[5] ประกอบด้วยเมืองหาง เมืองสาด เมืองต่วน เมืองทา และเมืองจวด (จวาด) เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินและอยู่ระหว่างเขตแดนของเชียงใหม่กับพม่า เชียงใหม่ได้หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าในสมัยพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง แต่ด้วยวิธีการปกครองเมืองขึ้นของเชียงใหม่ที่ปล่อยให้ปกครองตนเองอย่างอิสระ จึงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นแต่เพียงในนาม    เท่านั้น และเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองพม่า บรรดาหัวเมืองชายแดนพม่าต่างพยายามแยกตัวเป็นอิสระมีการรบพุ่งกันเสมอ และมักจะล้ำแดนเข้ามาเกณฑ์ราษฎรในเขตหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าเสมอ และ      สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจากทางเชียงใหม่ ทำให้ความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดนขยาย   วงกว้างยิ่งขึ้น เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมมีการปล้นฆ่าคนในบังคับอังกฤษซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนาไทย ดังเช่นในปี พ.. ๒๔๒๔ เกิดกรณีปล้นฆ่ามองตาทวย มองอุนอง และลูกจ้าง ซึ่งต่างเป็นคนในบังคับอังกฤษ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้[6] รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงต้องการให้      รัฐบาลไทยรักษาความสงบในหัวเมืองชายแดนเพื่อคนในบังคับอังกฤษจะได้ปลอดภัย
จากปัญหาทั้งสองประการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องจัดการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพในเวลาต่อมา และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนในบังคับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียกับรัฐบาลไทยจึงตกลงทำสัญญาเชียงใหม่ (The Treaty of Chiengmai) ฉบับแรก พ.. ๒๔๑๖ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อที่จะจัดการป้องกันผู้ร้ายที่ปล้นสดมภ์ตามชายแดนเชียงใหม่ และอังกฤษยินยอมให้คนเอเชียในบังคับอังกฤษที่มีคดีแพ่งขึ้นศาลที่จะจัดตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าในกรณีที่คนในบังคับอังกฤษยินยอมเท่านั้น หากไม่ยินยอมต้องส่งคดีนั้นให้แก่กงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ หรือเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ยองสะลินในพม่าเป็นผู้ดำเนินการตัดสิน
สนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับนี้นับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษยินยอมให้อำนาจทางการศาลแก่ไทยบ้าง แม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ตาม อย่างไรก็ดีสนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันโจรผู้ร้ายตามบริเวณหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เกินกำลังที่เมืองเชียงใหม่จะจัดการให้เรียบร้อยได้[7] และด้านคดีความต้องส่งมาฟ้องร้องต่อกงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ เสมอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงเกิดทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง พ.. ๒๔๒๖ โดยขยายอำนาจศาลไทยให้กว้างขึ้นอีกคือ กำหนดให้คนในบังคับอังกฤษต้องขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งเป็นการยกเลิกสิทธิของคนในบังคับอังกฤษที่เคยได้รับตามสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกที่ว่า จะขึ้นศาลไทย   ต่อเมื่อตนเองยินยอม อย่างไรก็ตามการพิจารณาคดีต่างๆ กงศุลหรือรองกงศุลมีสิทธิถอนคดีจากศาลต่างประเทศไปชำระที่ศาลกงศุลได้ทุกเวลาที่เห็นสมควร
จากสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ทำให้รัฐบาลไทยยินยอมให้รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งกงศุลประจำเมืองเชียงใหม่ และจากการทำสัญญาเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอังกฤษมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่เป็นอันมาก จนรัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.. ๒๔๒๗

[1] ดินแดนมณฑลพายัพหรือล้านนาไทย ปัจจุบัน คือ ๘ จังหวัดในภาคเหนือ ตอนบนประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของมณฑลพายัพ
     หัวข้อนี้ผู้เขียนขอปรับปรุงจากบทความเรื่อง กระบวนการรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยเข้าสู่ส่วนกลาง (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๗๖)” สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (๑ เมษายน กันยายน ๒๕๒๔) : ๒๓ - ๓๘ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดู สรัสวดี ประยูรเสถียร, “การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ พ.. ๒๔๓๖ - ๒๔๗๖” (ปริญญานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, ๒๕๒๒), หน้า ๓๗๑.
[2] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ ๕ (ต่อไปย่อ หจช. . ) . ๕๘/๘๘ รายงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากรเรื่องจัดราชการเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ลงวันที่ พฤษภาคม ร.. ๑๐๓
[3] ๑ รูปี (แถบ) มีค่าประมาณ ๘๐ สตางค์
[4] สงวน โชติสุขรัตน์, คนดีเมืองเหนือ (นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๕), หน้า ๘๙.
[5] หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้านี้ไทยต้องเสียให้แก่อังกฤษในปี พ.. ๒๔๓๕ ดู นคร พันธุ์ณรงค์, “การเจรจาและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับหัวเมืองชายแดนล้านนาไทยและพม่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะ พ.. ๒๔๒๘ - ๒๔๓๘” (ปริญญานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร, ๒๕๑๖), ๓๔๗ หน้า
[6] หจช. . ๕ สารบาญสมุดพิเศษ เล่ม ๖ หน้า ๔๒๐
[7] หจช. . ๕ สารบาญสมุดพิเศษ เล่ม ๘ หน้า ๘๓

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของไทย 3

) วิธีการควบคุมเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราช

เมื่อพิจารณาลักษณะการปกครองภายในเมืองเชียงใหม่ตามหัวข้อที่กล่าวมาแล้วจะ   เห็นว่ารัฐบาลกลางให้เชียงใหม่มีอิสระในการปกครองตนเองอย่างมาก โดยที่รัฐบาลกลางไม่เข้าไป     ยุ่งเกี่ยวในกิจการภายใน เชียงใหม่สามารถกำหนดรูปแบบการปกครองตนเองตามขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางก็ไม่ปล่อยให้เป็นอิสระเสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางใช้วิธีการ     ควบคุมโดยอ้อม ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกันที่จะให้เชียงใหม่ต้องตระหนักถึงอำนาจของรัฐบาลกลางที่เหนือกว่าอยู่เสมอ

    วิธีการซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการควบคุมที่สำคัญคือ การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูงที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานตำแหน่งให้[1] โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งใหม่จะต้องเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งเพื่อรับตราตั้งและเครื่องยศ ในการ       พระราชทานเครื่องยศแล้วแต่โอกาส ตำแหน่งเดียวกันอาจจะรับเครื่องยศต่างกัน และเครื่องยศทุกชิ้นจะต้องคืนเมื่อถึงแก่กรรม โดยทางกรุงเทพฯ จะตรวจนับเครื่องยศ มีหลักฐานว่าการส่งคืนเครื่องยศของเจ้าเชียงใหม่พุทธวงษ์ (.. ๒๓๖๗ - ๒๓๘๙) ขาดไป ๕ สิ่ง ซึ่งทางกรุงเทพฯ ไม่ทวงถาม[2]

    นอกจากนั้นมีพิธีการต่างๆ ที่ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ เช่น เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานต้องลงมาร่วมในงานพระบรมศพและเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ด้วย การกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ปีละ ๒ ครั้ง โดยประกอบพิธีที่วัดสำคัญ มีเจ้าขัน ๕ ใบและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ ร่วมด้วย พิธีนี้มีการให้สัตย์สาบาน            รัฐบาลกลางจึงถือว่าเป็นพิธีสำคัญที่แสดงความจงรักภักดี ผู้ที่ไม่ร่วมพิธีจะถูกเพ่งเล็ง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ พบหลักฐานเสมอที่ทรงย้ำให้กระทำพิธีนี้[3]

    อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาเป็นรูปพิธีการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางมากกว่า ส่วน     วิธีการควบคุมที่แสดงอำนาจที่เฉียบขาด เช่น การเรียกตัวให้เข้าเฝ้าเพื่อสอบสวนความผิดดังกรณีพระเจ้าตากสินมหาราชเรียกตัวพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละซึ่งมีการลงโทษตัดขอบหูพระยา     กาวิละและขังพระยาจ่าบ้านตามที่กล่าวมาแล้ว และกรณีรัชกาลที่ ๔ เรียกตัวเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เข้าเฝ้าเพราะได้ข่าวว่าฝักใฝ่พม่า ซึ่งผลปรากฏว่าไม่มีความผิดจึงให้กลับไปครองเมืองตามเดิม[4] นอกจากนั้นถ้ารัฐบาลกลางไม่แน่ใจว่าจะจงรักภักดีก็จะให้ทำราชการในกรุงเทพฯ เช่นกรณีพระยาแพร่มังไชยเคยถูกพม่าจับตัวไปและอยู่กับพม่า ๑๐ ปี (.. ๒๓๑๘ - ๒๓๒๘) ได้หันมาช่วยกองทัพไทยโดยยกทัพไปตีเชียงแสนและสามารถจับตัวเจ้าเมืองเชียงแสนนำส่งมากรุงเทพฯ ได้ นับว่ามีความดีความชอบมาก แต่รัชกาลที่ ๑ ยังแคลงพระทัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแพร่มังไชยรับราชการที่กรุงเทพฯ มิให้กลับไปครองเมือง[5]

) พันธะของเมืองเชียงใหม่ต่อรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ

    สิ่งที่เชียงใหม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของเมืองประเทศราชแบ่งได้เป็น ๒ ประการ

    ประการแรก การส่งเครื่องราชบรรณาการ ส่วย และสิ่งของต่างๆ

    เครื่องราชบรรณาการ ต้องส่ง ๓ ปีต่อครั้ง เป็นเครื่องหมายของการยอมอยู่ใต้การบังคับบัญชา หากไม่ส่งจะถือว่ากบฏ เครื่องราชบรรณาการประกอบด้วยสิ่งสำคัญคือต้นไม้ทองเงินขนาดเท่ากัน ๑ คู่ และสิ่งของอีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสม โดยไม่กำหนดชนิดและจำนวน    หลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๔ พบว่าส่งต้นไม้ทองเงินสูง ๓ ศอกคืบ ๗ ชั้น และไม้ขอนสัก ๓๐๐ ต้น หรือบางปีส่งน้ำรักแทนในจำนวน ๑๕๐ หรือ ๓๐๐ กระบอก[6] ต้นไม้ทองเงินที่ส่งมาถวายเข้าใจว่าไม่น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับส่วยและการเกณฑ์สิ่งของซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ามาก

    ส่วย เป็นสิ่งของที่ต้องส่งทุกปี ในอัตราที่ค่อนข้างแน่นอน ส่วยที่สำคัญของเชียงใหม่ คือ ไม้ขอนสัก ซึ่งเป็นของหาง่ายในท้องถิ่น ตามหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๓ พบว่าเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ส่งไม้ขอนสัก ๕๐๐ ต้น น่าน ๔๐๐ ต้น ลำปาง ๔๐๐ ต้น แพร่ ๒๐๐ ต้น ลำพูน ๒๐๐ ต้น[7]

อย่างไรก็ตามการส่งส่วยบางครั้งไม่ครบจำนวน มีการค้างส่วย ซึ่งสำหรับเมืองเชียงใหม่ไม่พบหลักฐานการทวงส่วยให้ส่งให้ครบหรือเร่งให้ส่ง เท่าที่พบมีเมืองแพร่ส่งไม้ขอนสักไม่ครบรัฐบาลกลางเร่งให้ส่งด่วน[8] และเมืองน่านเจ้าเมืองของดส่งส่วยไม้ขอนสัก ๓ ปี  ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ไม่ยอมและ  ถูกว่ากล่าวตักเตือน[9]

นอกจากไม้ขอนสักแล้วเชียงใหม่ส่งผ้าขาวเพลา ปีละ ๒๐๐ เพลา และน้ำรัก ๕๓๗ ทะนาน[10]

นอกจากจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยแล้ว เมื่อมีงานพระราชพิธี เช่น    พระบรมศพ รัฐบาลกลางจะเกณฑ์สิ่งของ ตามหลักฐานในงานพระราชพิธีบรมศพรัชกาลที่ ๑ พ..๒๓๕๒ เชียงใหม่ถูกเกณฑ์กระดาษหัว ๒๐,๐๐๐ แผ่น  ลำปางส่งกระดาษหัว ๑๕,๐๐๐ แผ่น  ลำพูนส่งกระดาษหัว ๕,๐๐๐ แผ่น  แพร่ส่งกระดาษหัว  ๒๐,๐๐๐ แผ่น  ป่าน ๕ หาบ และเมืองน่านต้องส่งกระดาษหัว ๓,๐๐๐ แผ่น  ป่าน ๕ หาบ[11]  และเมื่อรัฐบาลกลางมีการก่อสร้างพระราชวังและวัดก็จะเรียกเกณฑ์ไม้ขอนสัก เช่น รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระราชวังที่ลพบุรีต้องใช้ไม้ขอนสักจำนวนมาก เท่าที่ค้นคว้าไม่พบหลักฐานว่าเมืองเชียงใหม่ถูกเกณฑ์เท่าไร พบแต่หลักฐานว่าเมืองลำปางต้องส่งไม้ขอนสักครั้งนั้นถึง ๑,๐๐๐ ต้น[12]

อย่างไรก็ตามเมื่อเชียงใหม่ส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยลงมา รัฐบาลกลางจะส่ง    สิ่งของตอบแทนให้กลับไปใช้สอยในบ้านเมือง โดยพระราชทานแก่ผู้คุมบรรณาการหรือส่วย สิ่งของที่พระราชทานมักจะเป็นของที่ทางเชียงใหม่ขาดแคลนและขอร้องมา แต่ในการพระราชทานไม่แน่นอนว่าเป็นอะไร และมีจำนวนเท่าใด สมัยรัชกาลที่ ๑ พ.. ๒๓๔๕ พระราชทาน ดังนี้

ปืนนกคุ้มกระสุน ๒ นิ้ว             ๒ บอก

ปืนเล็กกระสุน     ๓ นิ้ว            ๒ บอก

๓ นิ้ว

กระสุนปืนใหญ่    ๔ นิ้ว            ,๕๐๐ ลูก

๕ นิ้ว

ดีบุกหนัก                            ๕ หาบ

สุพันถันหนัก                         ๓ หาบ

ฉาบพล                               ,๐๐๐ ใบ

กะทะเหล็ก                           ๗ ใบ

ทองคำเปลว                         ,๐๐๐ แผ่น

กระจกหนัก                          ๑๐ หาบ[13]

ฯลฯ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.. ๒๓๙๐ พระราชทานพานไถนาโดยให้แวะรับเจ้าภาษีเหล็กที่เมืองชัยนาท และพบว่าการเข้าเฝ้าครั้งนั้นมีเจ้าอุปราชเชียงใหม่นำมา มีผู้คนติดตามถึง ๓๔๙ คน ในระหว่างการเข้าเฝ้าและเดินทางกลับทรงพระราชทานสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร ๓๔๙ ถัง[14] ฟืน ๕๐๐ ดุ้น เสื่อ ๔๒ ผืน น้ำมันมะพร้าว ๑๓๐ ทะนาน เป็นต้น[15]

เมื่อพิจารณาจากการตอบบรรณาการและส่วยแล้วนับว่าทั้งเมืองเชียงใหม่และรัฐบาลกลางต่างมีพันธะที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และคงมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ สมัยก่อนการปฏิรูปการปกครองดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ประการที่สอง การป้องกันประเทศ ถือเป็นหน้าที่สำคัญของเมืองประเทศราชที่ต้อง    ช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เช่น ยามมีศึกสงครามจะถูกเกณฑ์กำลังทหารซึ่งจะต้องส่งกำลังมาช่วยอย่าง  รวดเร็วเพื่อไม่ให้ถูกเพ่งเล็ง กองทัพเชียงใหม่เคยถูกเกณฑ์ราชการศึกหลายครั้ง เช่น คราวกบฏ      เจ้าอนุวงศ์ พ.. ๒๓๖๙ และเมื่อสถานการณ์ปกติเมืองประเทศราชต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมป้องกันบ้านเมืองเสมอ ดังสารตราในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ส่งถึงเมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งมีความว่า

“ … อีกประการหนึ่งให้ตรวจตราค่ายคูประตูเมือง ป้อมกำแพง หอรบเชิงเทินตึก ปืนดิน สำหรับบ้านเมือง สิ่งใดชำรุดหักอยู่ให้จัดแจงตกแต่งซ่อมแปลงทำขึ้นไว้ให้มั่นคงจะได้เป็นสง่างามกับบ้านเมือง สัตรูจะไม่ได้ประมาตขึ้นได้ กับให้บำรุงทหาร จัดแจงปืน กระสุนดินดำ เครื่องสาตราวุธ     รวบรวมเสบียงอาหารใส่ยุ้งฉางให้พร้อมสรรพไว้กับบ้านเมือง มีราชการกิจสงครามคุกคามค่ำคืนประการใดก็ให้พร้อมมูล อีกประการหนึ่งให้แต่งกองลาดตระเวณตรวจตรารักษาด่านสืบราชการปลายแดนอย่าให้ขาด ถ้ามีเหตุการณ์ชายแดนให้บอกเมืองลคอร, ลำพูน แลหัวเมืองที่ไกลให้รู้ราชการ ให้เร่งรีบบอกลงกรุงเทพฯ ให้เมืองเชียงใหม่, ลำพูน, ลำปางช่วยกันรบพุ่งต้านทานไว้กว่ากองทัพกรุงเทพฯ กองทัพหัวเมืองจะขึ้นไปถึง อย่าให้เสียเขตแดนบ้านเมือง …”[16]



[1] ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นอกจากเจ้าขัน ๕ ใบแล้ว มีหลักฐานว่าทรงพระราชทานสัญญาบัตรและเครื่องยศให้แก่พระยาสามล้าน และพระยาไชยสงคราม ดู หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๒๐ เลขที่ ๑๗ ร่างศุภอักษรถึงเจ้านครเชียงใหม่ และ หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๒๒ เลขที่ ๑๗ ร่างศุภอักษรถึงเจ้านครลำปาง

[2] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๑๓ เรื่องสารตราถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่

[3] ดู หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๑๗ สารตราถึงเมืองเชียงใหม่ นครลำพูน นครลำปาง เรื่องตั้งพระยาอุปราช และ และ หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๒๒ เลขที่ ๑๐ ร่างพระบรมราโชวาท

[4] พรพรรณ จงวัฒนา, “กรณีพิพาทระหว่างเจ้านครเชียงใหม่กับคนในบังคับอังกฤษอันเป็นเหตุให้รัฐบาลสยามจัดการปกครองมณฑลพายัพ (.. ๒๔๐๑ - ๒๔๔๕)” (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๗), หน้า ๖๐ - ๖๑.

[5] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, หน้า ๑๔๐.

[6] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๑๓ เลขที่ ๑๐๗ บัญชีเจ้าเมืองลาวพุงดำพุงขาวส่งเครื่องบรรณาการประจำปี.

[7] ปริศนา ศิรินาม, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๕. (อ้างจาก หวญ. . ๓ จ.. ๑๑๙๗ เลขที่ ๕ บัญชีรายวันเรื่องส่งไม้ขอนสักหัวเมืองต่างๆ เข้ามาถวาย)

[8] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๒๑ เลขที่ ๒๑๐ สารตราถึงเมืองแพร่, พิษณุโลกและเมืองกำแพงเพชร จ.. ๑๒๒๑

[9] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๒๑ เลขที่ ๑๙๖ ร่างตราน้อยเจ้าพระยานิกรบดินทร์  เรื่องเจ้าเมืองน่านของดส่งไม้ ฯลฯ

[10] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๔ เลขที่ ๑๓ สารตราถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่เรื่องตอบรับเครื่องยศของนายหนานมหาเทพ

[11] ปริศนา ศิรินาม, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๙.(อ้างจาก หวญ. . ๒ จ.. ๑๑๗๑ เลขที่ ๑ ศุภอักษรถึงเจ้าประเทศราชฯ และเกณฑ์กระดาษเพลา ป่าน ใช้ในการพระบรมศพ ฯลฯ)

[12] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๑๘ เลขที่ ๖๙ ตราใหญ่ถึงนครลำปางให้จัดหาไม้ขอนสักพันต้น

[13] หวญ. . ๑ จ.. ๑๑๖๔ เลขที่ ๑ ร่างพระบรมราชโองการเรื่องตั้งเจ้าพระยาเชียงใหม่ จ.. ๑๑๖๔

[14] จำนวนข้าวสารนี้เข้าใจว่าให้เท่าจำนวนคนเพราะพบหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๔ เมืองลำพูนส่งคนมาเฝ้า ๒๖ คน ได้พระราชทานข้าวสาร ๒๖ ถัง ดู หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๑๙ เลขที่ ๑๕๘ คัดบอกเมืองลำพูน เมืองแพร่ เรื่องส่งไม้สักและต้นไม้ทองเงิน จ.. ๑๒๑๙

[15] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๑๓ สารตราเมืองเชียงใหม่ เรื่องตอบรับเครื่องยศของ นายหนาน มหาเทพ

[16] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๑๗ สารตราถึงเมืองเชียงใหม่, นครลำพูน, นครลำปาง เรื่องตั้งพระยาอุปราช

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของไทย 2

วิธีการดำเนินงานเพื่อให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลกลางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กระทำการช่วยเหลือเชียงใหม่หลายรูปแบบ

ประการแรก การช่วยเหลือด้านอาวุธเพื่อใช้ในราชการสงครามนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือเสมอมา ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๑ ปี พ.. ๒๓๔๕ เมื่อทรงมีพระราชดำริให้เมืองเชียงใหม่และลำปางยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายพม่า ทรงพระราชทานอาวุธปืนและกระสุนจำนวนหนึ่ง[1] และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.. ๒๔๐๐ เมืองเชียงใหม่ขอพระราชทานปืนหามแล่น ๑๐๐ กระบอก[2]

ประการที่สอง การส่งกองทัพหลวงช่วยเหลือป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในระยะที่เพิ่งจะตั้งเมืองในสมัยพระยากาวิละในปี พ.. ๒๓๔๐ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยากาวิละไม่สามารถป้องกันเมืองเชียงใหม่ตามลำพัง เนื่องจากกำลังคนมีไม่เพียงพอจึงขอทัพหลวงมาช่วย ซึ่งรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพไปช่วย ได้ร่วมกันสู้รบจนพม่าพ่ายไป[3] และในสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนใน พ.. ๒๓๔๗ กองทัพหลวงก็ขึ้นไปช่วยกองทัพเชียงใหม่ด้วย

ประการที่สาม การคืนครัวเรือนที่เชียงใหม่กวาดต้อนมาได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมือง ดังเช่น พระยากาวิละยกทัพไปตีเมืองสาด เมืองปัน เมืองปุ แล้วกวาดครัวมาถวายรัชกาลที่ ๑ ๆ ทรงพระราชทานคืนครัวเรือนที่กวาดต้อนมาได้คืนเชียงใหม่ไป อีกทั้งยัง         พระราชทานเงินและเสื้อผ้าเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่นายทหารในครั้งนั้นด้วย[4] การคืนครัวนี้สืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระราชทานกลับคืนไปเช่นกัน[5]

ประการที่สี่ การตั้งเมืองลำพูนและเชียงรายเพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ เมื่อมีราชการสงครามเกิดขึ้น โดยตั้งเมืองลำพูนสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.. ๒๓๕๗ ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว ส่วนเมืองเชียงรายจัดตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.. ๒๓๘๖ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนขอพระราชทานตั้งเมืองขึ้นใหม่[6] อาจกล่าวได้ว่าเมืองลำพูนและเชียงราย ตลอดจนลำปางในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่เพราะทรงถือว่าเมืองเชียงใหม่มีเจ้าเมืองเป็นญาติผู้ใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ซึ่งสืบสายตระกูลเจ้าเจ็ดตนเช่นเดียวกัน จึงให้สิทธิ์แก่เจ้าเมืองเชียงใหม่ เช่น สามารถว่ากล่าว ตักเตือน และลงโทษเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานเมืองอื่นๆ ได้[7] และยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและอุปราชเมืองลำพูน[8]

อนึ่ง สารตราสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จะเน้นเสมอถึงการให้ทั้งสามเมืองช่วยกันปกครองบ้านเมืองและป้องกันภัยจากพม่า

จากความพยายามสนับสนุนให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็งได้ประสบความสำเร็จในปลาย   รัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สามารถขับไล่พม่าจากฐานที่มั่นในเมืองเชียงแสนในปี พ.. ๒๓๔๗ และหลังจากสงครามครั้งนั้นพม่าไม่ได้ยกทัพมาโจมตีหัวเมืองล้านนาไทยเป็นกองทัพใหญ่อีก จะมีแต่กองทัพจากเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยร่วมกันยกไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งในปี พ.. ๒๓๔๘ ก็สามารถขยายอาณาเขตไปถึงเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองลื้อ สิบสองปันนา อาณาเขตของล้านนาไทยจึงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง[9]



[1] หวญ. . ๑ จ.. ๑๑๖๔ เลขที่ ๑ ร่างพระบรมราชโองการตั้งเจ้าพระยาเชียงใหม่ จ.. ๑๑๖๔

[2] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๑๙ เลขที่ ๒๖ ศุภอักษรเมืองเชียงใหม่ จ.. ๑๒๑๙

[3] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.

[4] หวญ. . ๑ จ.. ๑๑๖๔ เลขที่ ๑ ร่างพระบรมราชโองการตั้งเจ้าพระยาเชียงใหม่ จ.. ๑๑๖๔

[5] ปริศนา ศิรินาม, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๖.

[6] ในครั้งนั้นตั้ง ๓ เมืองพร้อมกัน คือ เชียงราย พะเยา และงาว โดยให้พะเยากับงาวขึ้นต่อเมืองลำปาง ดู หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๕ เลขที่ ๒๑ บัญชีเครื่องยศหัวเมืองต่างๆ

[7] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๓๐ เรื่องพระยานครลำปางกับพระยาฤทธิภิญโญยศประพฤติการชั่วร้าย

[8] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๔ เลขที่ ๑๕ สำเนาใบบอกเมืองเชียงใหม่ และ หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๑๐ ที่ ๑๖ ร่างสารตราถึงพระยาลำพูน เรื่องตั้งพระยาราชวงศ์เป็นที่พระยาอุปราชเมืองลำพูน

[9] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, หน้า ๒๗๗.

Our links