Our links

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า (ต่อ 2)

เกี่ยวกับการควบคุมข้าราชการของพม่านั้น ได้พบข้อความที่แสดงว่าพม่าปกครองเชียงใหม่อย่างมีระเบียบแบบแผน ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของขุนนางพม่าที่ทำหน้าที่ผู้ปกครอง     บ้านเมืองอย่างรัดกุม เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและตามที่พม่าต้องการ และเป็นการป้องกันมิให้ข้าราชการพม่าใช้อำนาจข่มเหงประชาชน ดังพอจะสรุปถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับ     ข้าราชการพม่าได้ดังนี้ 

ห้ามข้าราชการพม่า ปรับไหมหรือลงโทษประชาชน โดยที่กฎหมายมิได้กำหนดว่าเป็นความผิด ถ้าจะมีการพิจารณาตัดสินคดีห้ามตัดสินคดีตามใจชอบ ให้พิจารณาโดยละเอียด     รอบคอบก่อนแล้วจึงตัดสิน[1]

ลูกหลานของขุนนางพม่าในเชียงใหม่ หากไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ห้ามใช้อำนาจไปบังคับประชาชนให้นำอาหาร หมู เป็ด ไก่ หมาก เมี่ยง พลู ของขบเคี้ยวต่างๆ จากชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน[2]

สำหรับทหารพม่าที่มาจากหงสาวดีและอังวะ เข้าตั้งเมืองเชียงใหม่แล้วให้ปลูกโรงช้างโรงม้าบ้านเรือนขึ้นใหม่ อย่าได้ข่มเหงขุนนาง (ขุนกินบ้านกินเมือง) เชียงใหม่ทั้งหลายให้เดือดร้อน เขาแบ่งปันให้เท่าใดให้รับเอาเพียงเท่านั้น อย่าได้แก่งแย่งครุบชิงเอาของเขา[3]

ส่วนประชาชนพม่าในเมืองเชียงใหม่นั้น ห้ามแอบอ้างเอากฎหมายหรือหนังสือทางบ้านเมืองไปข่มเหงเบียดเบียน ปรับไหมประชาชน ถ้าผู้ใดได้กระทำเช่นนี้ ให้ขุนนางทั้งหลายจับกุมผู้ทำผิดและครอบครัวที่คนพม่าผู้นั้นไปละเมิดปรับไหมข่มเหงเขา ให้นำมามอบให้ขุนนางผู้ใหญ่พิจารณา      ลงโทษ[4]

ด้านภาษีอากร พม่าได้พยายามควบคุมทรัพยากรต่างๆ ให้นำมาใส่พระคลังไว้ มิให้        ข้าราชการซ่อนหรืออำหรือใช้สอยของของทางราชการ ดังความว่า

“ … วัตถุกับน้ำ คันไร่นา เรือกสวนบ้านป่าคนทั้งหลายฝูงนั้น ดั่งขุมกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย อย่าซ่อนอย่าอำไว้ อย่าได้ใช้สอย ก็หอบขมาเข้าที่ราชสมบัติ …”[5]

สำหรับของที่เป็นของทางราชการบ้านเมืองมาก่อน (สมัยราชวงศ์มังราย) อย่าได้     เปลี่ยนแปลงล้มล้างเสีย เดิมเคยเก็บเข้าคลังอย่างใดก็ให้ปฏิบัติตามเดิมเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สมบัติของบ้านเมืองในสมัยพม่าปกครองลดจำนวนลง[6]

กรณีที่ประชาชนหรือเจ้าขุนนำส่วยมาให้เป็นส่วยเดือนหรือส่วยปี เป็นน้ำมันดิน หรือ     สิ่งของอื่นๆ ข้าราชการขุนนางพม่าอย่าได้เก็บไว้เป็นของตน ดังปรากฏข้อความว่า

“… คันข้าเจ้าคนในทั้งหลาย อันส่วยเขาด้วยเขาปลี (ปี) เขาเดือน เชาเดือน เชาน้ำมันดิน กาง (กลาง) ท่า หอบสิ่ง ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลายฝูงนี้อย่าได้เก็บเอา[7]

ส่วนฉางหลวงหรือพระคลังหลวงนั้น ให้ได้นำข้าว พืชพันธ์ (เครื่องปลูก) อาหารต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ตามประเพณีที่เคยมา เพื่อฉางหลวงคลังหลวงจะได้มีข้าวของเงินทองไว้ใช้สอยในกิจการบ้านเมืองหรือคราวจำเป็น เช่น ยามสงคราม ดังปรากฏข้อความว่า

“… ประการ ๑ ดังสาง (ฉาง) หลวงเหล้ม (เล่ม หลวง อันได้หล่อได้ปันตาม เช่นเกล่า ตามเช่นเกล่า (เก่า) รอยหลัง ก็หื้อได้จัดถามแล้ว หื้อได้เปล่าเติน (ประกาศเตือน) สร้างแปลง ข้าว ยา ยาเคี้ยว เครื่องปลูกทั้งหลาย หื้อได้ใส่ได้หล่อ ตามเช้นเกล่าบูราณ …”[8]

ในกรณีที่ทางราชการบ้านเมืองมีความจำเป็นรีบด่วนในการจะเรียกเกณฑ์เงินทอง ข้าวเปลือก ข้าวสาร เช่น ในภาวะสงคราม ทางราชการจะเรียกเก็บจากประชาชนก็ไม่ทันการณ์ ให้ข้าราชการเจ้าเมืองทั้งหลายจ่ายทดแทนไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากไพร่และอย่าได้เก็บค่าดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนที่จ่ายทดแทนครั้งนั้น ให้เรียกเก็บเท่าที่จ่ายทดแทนไป ดังปรากฏข้อความว่า

ประการ ๑ ขุนกินบ้านกินเมืองแก่หัวจาเรทั้งหลาย ดั่งกิจจราชการหากเกิดมีมานั้นและดั่งเงินทองข้าวเปือก (เปลือก) ข้าวสาน (สาร) นั้น หากบ่ทันเก็บเป็นการอันรีบนั้น หื้อแก่    หัวขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลายได้ออกปันก่อน คันออกแล้วเบี้ยเงินข้าวเปือกข้าวสานนั้นดั่งขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย ดั่งคนเวียกคนการทั้งหลาย ลูกบ้านลูกเมืองทั้งหลาย ก็อย่าได้ขึ้นดอกออกปลายเอามาเสียกว่า (มากกว่า) อันออกนั้น …”[9]

 

 

 



[1] ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า ๓๙ ระบุว่า หนังสืออาชญาหน้าจีด ตราหางหนังสือเลี้ยมบ่มีก็อย่าหื้อได้บาปได้ไหม อย่าได้กระทำอาชญาหนังสือเลี้ยมมีเป็นหนี้เก่าหนี้หลังนั้น ขุนกินเมืองโหมยหว่าน (ข้าไปเสิก (ศึก) ที่ไกล ขอบน้ำแผ่นดิน ขุนกินเมืองแก่บ้านจาเร (ข้าราชการพม่า) ทั้งหลาย อย่าเรียกร้องลูกหลวง) พ่อเมืองแก่หัวทั้งหลาย หื้อได้จัดเจียงคันหมาแม่นแล้ว หื้อได้ตัดแต่ง อย่าได้ตัดแต่งตามใจส่ำคนใช้

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน ระบุว่า ลูกท้าวคนในลูกหลานขุนเข้าซื้อทั้งหลายไปแอ่วล่าล่าอมินต่อ (คำสั่ง) อาชญาบ่มี เขาก็ไปด้วยการเขาทั้งหลายได้ไปรอดบ้านรอดเมือง ก็ร้อนไหม้ กินข้าวน้ำคำของเคี้ยวของกินหมูไก่หมากและเมี่ยง พู (พลู) ยาข่มเหงถามเอากินนั้นก็อย่าเยียะอย่ากิน

[3] โปรดดูรายละเอียดใน ราชสงศาพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า ๓๙.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[6] โปรดดูรายละเอียดใน ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า ๓๙.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๐.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links