Our links

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า

เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า

เมื่อบุเรงนองยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในระยะแรกนี้พม่ามิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งให้พระเมกุฏิเจ้าเมืองเชียงใหม่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ในฐานะเมืองประเทศราชของพม่าซึ่งเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง จะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินปีละ ๑ ครั้ง เป็นอย่างน้อย จะต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของตามที่พม่าต้องการ เช่น ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ และจะต้องจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าในยามเกิดศึกสงคราม[1] ต่อมาพม่าได้ปลดพระเมกุฏิออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.. ๒๑๐๗ โดยพม่าอ้างว่าพระเมกุฏิคิดการเป็นกบฎ พม่าได้แต่งตั้งสตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ นางพระยาราชเทวี หรือพระนางวิสุทธิ-เทวี ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เชื้อสายราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายที่ปกครองบ้านเมืองฐานะประเทศราชของพม่า เมื่อนางพระยาราชเทวีสิ้นพระชนม์ พม่าก็ได้แต่งตั้งให้เจ้านายและข้าราชการของพม่ามา ปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง กษัตริย์เชียงใหม่สมัยที่พม่าปกครองรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๓ พระองค์

การปกครองของพม่าในล้านนาไทย พม่าพยายามปกครองหัวเมืองล้านนาไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง พม่าจะควบคุมเป็นพิเศษ พม่าได้ควบคุมนโยบายสำคัญๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ โดยได้ควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนเจ้าเมืองล้านนาไทย ตลอดจนการปูนบำเหน็จและการลงโทษด้วย ควบคุมการเกณฑ์กำลังคนเพื่อใช้ในยามสงคราม และพม่าได้นำตัวราชบุตรหรืออนุชาเจ้าเมืองประเทศราชไปไว้เป็นตัวประกันที่เมืองพม่าด้วย

สำหรับการปกครองภายในบ้านเมืองนั้น กิจการใดที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของพม่า สันนิษฐานว่าพม่าคงอนุโลมให้เจ้าเมืองในล้านนาไทยมีอิสระ ปกครองกันเองภายใต้อำนาจของพม่า สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญ พม่าได้แต่งตั้งขุนนางและกษัตริย์พม่าเข้ามาทำการปกครองโดยตรง นับตั้งแต่สิ้นสมัยนางพระยาราชเทวีเป็นต้นมา ได้พบหลักฐานข้อความในเอกสารคัมภีร์โบราณ ได้เขียนเกี่ยวกับกฎหมายที่พม่าใช้ปกครองในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าพม่า ดำเนินการปกครองตามจารีตประเพณีที่เคยปกครองมาแต่ก่อน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเชียงใหม่เกลี่ยดชังผู้ปกครองพม่าซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านพม่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามพม่าก็ได้ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับบางเรื่องอย่างเข้มงวดกวดขัน ซึ่งได้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงมั่น พอสรุปได้ดังนี้

พม่ากับไพร่เมือง[2]เชียงใหม่ ได้พบว่าพม่ามีคำสั่งให้ข้าราชการขุนนางพม่าเลี้ยงดู รักษาไพร่ไทอย่าให้ไพร่ไทเดือดร้อนทุกข์ยาก ให้ไพร่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และให้ไพร่ยินดีที่จะทำงานให้ทางบ้านเมือง ดังปรากฏข้อความว่า

“ … สักราชได้ ๙๓๑ ตัว (.. ๒๑๑๒) เดือน ๑๑ ออก ๑๐ ค่ำ วัน ๗ รักชื่อโกชนะ ๑๖ ลูก กินเมืองพิง จาเรนั้นก็หื้อมังแรส่วย ต้องเข้าภิทูรไหว้สาเจ้าตนบุญใหญ่ ธัมมราชาหลวงเมืองเชียงใหม่แต่เช่นเกล่า (เก่า) ราชาทั้งหลายมีรีดเกล่ารอยหลังมา อันได้แต่งกินเมืองเชียงใหม่ เก็บหอมไพร่ไทอวบฟักรักสา บ่หื้อรีดมล้าง เยืองสันใด (ฉันใด) ไพร่ไทไพร่บ้านไทเมืองบ่ร้อนบ่ไหม้บ่ทุกข์ยาก ก็หื้อเสมอกับด้วยกัน หื้อมีสมันตหื้อสุขหนุกชุ่มเย็น ดั่งข้าใหญ่ไพร่ไทกูทั้งหลาย เช่น กูนี้ก็มีใจชื่นชมยินดีเวียกส้าง (ทำงาน) ซื้อขายกินไปใกล้ไปไกลนั่งนอนก็เสมอดั่งพร้อมกันพร้อมเพรียง …”

เกี่ยวกับการบุกเบิกที่นาของไพร่หรือประชาชน พม่าให้อนุโลมตามกฎหมายมังรายศาสตร์ว่าเรือกสวนไร่นาใดกลายเป็นนาร้างนาน ๑๐ ปี ต่อมาไพร่ไทได้แผ้วถางบุกเบิกให้เป็นไร่นา ให้ไพร่ ทำนาโดยไม่เก็บค่านา ๓ ปี ถ้าเกิน ๓ ปีไปแล้ว ให้ขุนกินเมืองเก็บภาษีตามประเพณีโบราณ ดัง ข้อความว่า

“ … ประการ ๑ ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลาย ไร่นาเรือกสวนห้วยร้องปลาบวกหนองทั้งหลายนั้น เปล่าห่าง ๑๐ ปี ไพร่ไทข้าเจ้า (ข้า หมายถึงทาส) เอาการทั้งหลาย แผ้วถางถากฟันเยียะไร่ แปลงนานั้น บ่ล้ำสามปี อย่าได้เอาของฝาก (ภาษีหรือค่าเช่า) คันล้ำสามปีไปหากเยียะสร้างก็ดี ขุนกินเมืองกินแคว้น แก่หัวทั้งหลาย หื้อได้หยั่งแยงหยุดผ่อน อย่าเอาเต็มอาเจียรบูราณ (โบราณ)[3]

กรณีที่ไพร่ไปรบในสงครามได้กู้เงินในระหว่างทำสงคราม เมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองแล้ว ให้ผู้กู้ใช้คืนสองเท่า ถ้าลูกหรือสามีไปกู้เงินในระหว่างไปรบ มีผู้รู้เห็นหลายคนว่ากู้ไปจริง (สันนิษฐานว่ากรณีนี้ผู้กู้อาจจะตายในสงคราม ผู้เขียน) ให้ลูกเมียใช้หนี้แทนถ้าไม่มีเงินใช้เพราะยากจน ให้เจ้านายของไพร่ (อมวยขระกูล)[4]ใช้แทน ถ้าเจ้านายไม่ใช้แทน ให้ข้าราชการขุนนางพม่าประชุมปรึกษากันแล้วใช้เงินแทนไพร่[5]เพื่อให้ไพร่ไปรบข้าศึก นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของพม่าที่ให้แก่ไพร่ผู้อุทิศเวลาและชีวิตไปรบในสงคราม นอกจากนี้ พม่ายังได้ออกกฎหมายไพร่เกี่ยวกับความสะดวกสบายของลูกหลานไพร่ที่ไปรบว่า ถ้าลูกหรือสามีของไพร่ผู้ใดไปช่วยรบในสงครามต่างบ้านต่างเมือง ขุนกินเมืองหรือผู้ปกครองไพร่ผู้นั้นจะเรียกลูกหรือภรรยาของผู้ศึกษาไปใช้งานมิได้[6] ข้อนี้นับเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ลูกและภรรยาของผู้ไปรบสงครามประการหนึ่งเช่นกัน



[1] สมเด็จกรมดำรงราชานุภาพ (แปล) “กฎมณเฑียรบาลพม่าใน ลัทธิธรรมเนียม ภาค ๒๖ หน้า ๑๖ อ้างใน ปริศนา, ศิรินาม, เรื่องเดิม, หน้า ๓๒

[2] ไพร่เมืองหมายถึงประชาชนในล้านนาไทยที่เป็นอิสระชน มีหน้าที่มาทำงานหรือเข้าเวรให้กับทางราชการหรือบ้านเมือง ในสมัยโบราณตามกฎหมายต่างๆ เรียกว่า ไพร่เอาการเมือง

[3] ประเสริฐ ณ นคร มังรายศาสตร์, หน้า ๖ กล่าวเกี่ยวกับไพร่สร้างไร่นาว่า มาตรา ๑ ไพร่อุตสาหะสร้างป่าคานาร้างสวนร้างให้เป็นนา เป็นสวน เป็นบ้าน เป็นเมือง ให้กินข้าวไปก่อนสามปี ต่อจากนั้น จึงเก็บค่าสวนค่านา …”

[4] อมวย ภาษาพม่า หมายถึง มรดก

[5] ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า ๔๐

[6] เรื่องเดิม, หน้า ๔๑ ความว่า ประการ ๑ ดั่งลูกผัวนั้นไปการ คันเจ้าเฝ้าขุนนอนมื้อนอนวังไปเสิก (ศึก) ที่ไกล ขอบน้ำแผ่นดิน ขุนกินเมืองแก่บ้านจาเร (ข้าราชการพม่า) ทั้งหลาย อย่าเรียกร้องลูกเมียเขามาเยียะเวียก (งาน กระทำการใช้สอย) อันไปอันมาก็อย่าได้กระทำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links