Our links

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า (ต่อ 3)

จากข้อความในกฎหมายพม่า[1] เกี่ยวกับเรื่องไพร่เมือง การควบคุมไพร่เมืองและข้าราชการพม่าด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนพ่อค้าประชาชนพม่าในเชียงใหม่ และเรื่องความยุติธรรมดังกล่าวข้างต้น อาจจะกล่าวได้ว่า พม่าได้พยายามปกครองเมืองเชียงใหม่อย่างรัดกุมและมีระเบียบ เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างถูกต้องและเรียบร้อย ตลอดจนได้พยายามปกครองโดยอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา เช่น เรื่องเกี่ยวกับการบุกเบิกไร่นาของพม่า เป็นต้น

การที่พม่าอนุโลมให้ใช้กฎหมายมังรายศาสตร์และได้แก้ไขเพิ่มเติมบางตอนนั้น ด้วยได้พบข้อความในกฎหมายมังรายศาสตร์ว่า

ตามคลองยายีม่าน ว่าด้วยลักษณะมักเมียท่าน  อันนี้อยู่นอกคลองมังรายศาสตร์แล …”[2]

หมายว่าตามกฎหมายพม่าว่าด้วยการไปชอบเมียผู้อื่นให้ลงโทษหนัก ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่กฎหมายมังรายศาสตร์ ที่พม่าอนุโลมเช่นนี้อาจเป็นเพราะพม่าได้ป้องกันมิให้คนเชียงใหม่หรือล้านนาไทยเดือดร้อน และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองจากพม่า อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือประชาชนเกลียดชังพม่าทำให้ยากแก่การควบคุมและอาจจะมีการจลาจลขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก็จะพบว่า แม้พม่าอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมของล้านนาไทยบางเรื่องที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของพม่าก็ตาม แต่เรื่องที่สำคัญและเป็นผลประโยชน์ของพม่า เช่น เรื่องการควบคุมไพร่ การทำงานของไพร่ ฯลฯ จะเห็นว่าพม่าได้เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนล้านนาไทยไม่พอใจและคิดการกบฏต่อพม่าตลอดมา เมื่อฝ่ายไทยมาช่วยเหลือเพื่อขับไล่พม่าออกจากบ้านเมืองคนล้านนาไทยจึงร่วมมือกับฝ่ายไทยด้วยดี จนสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ

วัฒนธรรมประเพณีพม่าในล้านนาไทย

ตลอดระยะเวลาที่พม่าปกครองล้านนาไทยเป็นเวลาตั้งแต่ พ.. ๒๑๐๑ ถึง พ.. ๒๓๑๗ นั้น พม่าได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีของตนเข้ามาเผยแพร่ในล้านนาไทยหลายด้าน ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ความเชื่อ การแต่งกาย อาหาร ฯลฯ ทางด้านศิลปกรรม โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น เจดีย์ในเชียงใหม่หลายวัดสร้างตามแบบเจดีย์พม่า เช่น เจดีย์วัดแสนฝาง เป็นต้น ประเพณีการสร้างรูปสิงห์ตามวัดต่างๆ นิยมสร้างตามประเพณีพม่า ด้านปติมากรรมพบพระพุทธรูปแบบพม่าในวัดต่างๆ ในล้านนาไทยทั่วไป เช่น พระพุทธรูปวัดพระแก้วดอนเต้า อำเภอลำปาง๕๓ การที่คนล้านนาไทยนิยมบวชเณรมากกว่าบวชพระภิกษุนั้น เป็นประเพณีนิยมของพม่าอย่างหนึ่งเช่น๕๔ การนิยมสักตามร่างกายเป็นประเพณีของพม่า ซึ่งคนพม่าถือว่าเด็กผู้ชายของพม่าจะถือว่าเป็นหนุ่มต่อเมื่อได้สักตามร่างกายแล้ว โดยสักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ และเชื่อว่าทำให้คงกระพัน ประเพณีการสักนี้ พม่านำเข้ามาใช้ในล้านนาไทยด้านศาสนา๕๕ พม่าได้เอาพุทธศาสนาหีนยานแบบพม่า เรียกว่า นิกายม่าน เข้ามา    เผยแพร่ในล้านนาไทย แต่สันนิษฐานว่าไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม้ว่าพม่าจะนำเอาพระสงฆ์เข้ามาและสร้างวัดพม่าก็ตาม๕๖   ส่วนความนิยมและสิ่งที่พม่านำไปจากเชียงใหม่หรือล้านนาไทยนั้น สันนิษฐานว่าพม่าคงนำไปน้อยมาก เพราะคนพม่าที่เข้ามาปกครองล้านนาไทยนั้นมีจำนวนน้อยและอยู่ในฐานะผู้ปกครองล้านนา จึงไม่เลื่อมใสยกย่องวัฒนธรรมของคนที่ตนปกครองอยู่ อย่างไรก็ตามพม่าได้นำเอาวิธีการบางอย่างที่พม่าไม่สามารถทำได้นำไปใช้ในบ้านเมืองของตน เช่น พม่านำเอาวิธีขุดพื้นรักลงเป็นรูปภาพต่างๆ ไปจากเชียงใหม่๕๗ พม่าปกครองเชียงใหม่นาน ๒๐๐ ปี จนถึงสมัยพระยากาวิละได้ร่วมมือกับฝ่ายไทยขับไล่อำนาจพม่าออกไปได้สำเร็จ ล้านนาไทยจึงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทยเรื่อยมา



[1] ข้อความในเอกสาร ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ในตอนต้นและตอนท้ายที่เกี่ยวกับกฎหมายพม่าระบุคำสั่งนี้ "เจ้าตนบุญใหญ่ธัมมราชาหลวงเมืองเชียงใหม่  เจ้าเมืองพิงเชียงใหม่ อันเป็นเจ้าหอคำมังธราหลวงเชียงใหม่ เป็นผู้สั่งหรือผู้ออกอาญา ในตอนท้ายระหว่าง "เจ้าตนบุญใหญ่ ตนประเสริฐตนเป็นเจ้ารัตนช้างเผือกนั่งหอคำเชียงใหม่ก็มีดวงมาดอาชญาฉันนี้แล…" ตอนจบระบุว่าได้คัดลอกเมื่อ พ.. ๒๔๐๓ โดยคัดลอกจากฉบับเดิมซึ่งเขียนเมื่อ พ.. ๒๓๒๙.

[2] ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร, มังรายศาสตร์.

๕๓ รำไพพรรณ แก้วสุริยะ, “เที่ยววัดใหญ่ในนครลำปางอนุสาร อ... (มีนาคม ๒๕๑๘), หน้า ๖๕

     อวบ สาณะเสน, “เปิดเมืองพม่าอนุสาร อ... (พฤศจิกายน ๒๕๑๕) หน้า ๕๕.

๕๔ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เที่ยวเมืองพม่า, พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, ๒๕๑๔. หน้า ๙๑

๕๕ เอกสารรัชกาลที่ ๕ ต. ๔๐/๓ ปึกที่ ๒ เขตแดนอังกฤษทางหัวเมืองมณฑลลาวเฉียง ปี ร.. ๑๐๙ อ้างในปริศนา    ศิรินาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศราชในหัวเมืองล้านนาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”, ปริญญามหาบัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ๒๕๑๖. หน้า ๘๓

๕๖ รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณเชียงใหม่, พิมพ์เผยแพร่โดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๘, หน้า ๑๐.

๕๗ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, เที่ยวเมืองพม่า, หน้า ๔๑๙

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links