Our links

วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ประวัติศาสตร์การปกครองเมืองเชียงใหม่ 4

การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่เริ่มตั้งแต่ตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.. ๒๓๓๙ จนถึงขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทยในปี พ.. ๒๓๔๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรวบรวมพลเมืองเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เป็นยุคที่เรียกว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง[1] พระยากาวิละกวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่ที่หลบหนีเข้าป่าให้กลับสู่เมือง และเริ่มกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และยอง ผู้คนที่กวาดต้อนมามีหลายชนิดเข้าใจว่าเป็นช่างฝีมือหรือไพร่เมืองชั้นดีจะให้ตั้งถิ่นฐานในตัวเมือง เช่น เขิน ที่ถนนวัวลาย ส่วนไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือจะไว้นอกเมือง เช่น เขินที่สันทราย ยองที่ลำพูน ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาก็จะตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ตนถูกกวาดต้อนลงมา เช่น เมืองวะ เมืองเลน เมืองขอน เมืองกาย พยาก เป็นต้น เชียงใหม่สมัยพระยากาวิละจึงพ้นจากสภาพเมืองร้าง

นอกจากพระยากาวิละจะ เก็บข้าใส่เมืองดังกล่าวแล้ว ยังมีการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ใน  รูปแบบต่างๆ เช่น ราชประเพณี โดยการกระทำพิธีราชาภิเษก สถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนขึ้นปกครองสืบต่อจากราชวงศ์มังราย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยสร้างวัด พระพุทธรูป การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นรัตนตึงษาอภินวบุรี เป็นต้น[2] นับว่าพระยากาวิละและเจ้านายบุตรหลานได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่เมืองเชียงใหม่ และล้านนาไทยยิ่ง



[1] ไกรศรี นิมมานเหมินท์, “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”, ล้านนาไทยคดี, ประคอง นิมมานเหมินท์ และ ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล, บรรณาธิการ (เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, ๒๕๒๑) หน้า ๔๘ - ๖๒

[2] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖ - ๑๐๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links