Our links

วันพุธที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

บทสรุป

วิธีการปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชดังกล่าว นับว่าเหมาะสมกับ   สภาวการณ์ในสมัยนั้น ซึ่งรัฐบาลกลางมีกำลังน้อยควบคุมไม่ถึง การคมนาคมไม่สะดวก และไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับก็เพียงพออยู่แล้ว ในส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองตามขนบธรรมเนียมของตน อย่างไรก็ตามเมื่อตะวันตกเข้ามาสภาพการปกครองหัวเมืองประเทศราชดังกล่าว ได้กลายเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมมากขึ้นตามลำดับ การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่จึงเกิดขึ้นใน พ.. ๒๔๒๗ ซึ่งพร้อมกับเมืองลำปางและลำพูน รวมเรียกว่าหัวเมืองลาวเฉียง นับเป็นดินแดนแห่งแรกในพระราชอาณาจักรที่รัฐบาลกลางต้องเร่งดำเนินการด้วยมีปัญหาเกี่ยวพันกับคนในบังคับอังกฤษ

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป ลักษณะการดำเนินงานเป็นการผนวกดินแดนหัวเมืองประเทศราชเชียงใหม่และล้านนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรที่ใช้เวลายาวนานถึง ๔๙ ปี (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๗๖) โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา และอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลไม่ยกเลิกในทันทียังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ของเจ้าเมืองเชียงใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นว่าในช่วงแรกที่รัฐบาลกลางส่งข้าหลวงสามหัวเมืองขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่เมืองเชียงใหม่ พ.. ๒๔๑๗ - ๒๔๒๖ ยังไม่ได้ควบคุมเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยตรง เพียงแต่ส่งข้าหลวงขึ้นไปแนะนำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสนธิสัญญาเชียงใหม่และตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น ครั้นต่อมาในช่วง พ.. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒ รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปการปกครองซึ่งเริ่มเข้าควบคุมอำนาจและผลประโยชน์บางอย่างและเป็นการวางรากฐานก่อนการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เพราะเมื่อจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.. ๒๔๔๒ เป็นเวลาที่รัฐบาลสามารถดำเนินการขั้นตอนยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช พร้อมกับเข้าควบคุมอำนาจทางการปกครองและผลประโยชน์จากเจ้าเมืองเหนือได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะหลังกบฏเงี้ยว พ.. ๒๔๔๕

ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ (ปี พ.ศ ๒๔๕๑) เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (.. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๒) ขอรับผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำจึงเริ่มมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าเมืองเหนือที่เหลืออยู่ก็ขอรับพระราชทานเงินเดือนเช่นเดียวกันหมด ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงดำเนินการในขั้นต่อมาคือ ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยกำหนดว่าหากเจ้าเมืององค์ใดถึงแก่พิราลัยแล้วจะไม่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งอีก เท่ากับยกเลิกตำแหน่งไปโดยปริยาย สัญลักษณ์ของเมืองประเทศราชจึงค่อยสลายตัวลง ครั้นเมื่อคณะราษฎรยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.. ๒๔๗๖ มณฑลพายัพจึงถูกยุบ แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงในช่วงการปฏิรูปการ  ปกครองคงเป็นรากฐานสืบมาถึงปัจจุบัน[i]



[i] ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่.เชียงใหม่.ทิพย์เนตรการพิมพ์, ๒๕๒๙

วันอังคารที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

มณฑลพายัพ

มณฑลพายัพในช่วง พ.. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๘ จะจัดเป็นระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับมณฑลภายในทุกประการ และช่วงนี้มีการจัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ประกอบด้วย ลำปาง แพร่ น่าน แล้วรวมกับมณฑลพายัพเป็นมณฑลภาคพายัพ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชียงใหม่จะเกิดหลังจากทางรถไฟสายเหนือมาถึงปลายทางที่เชียงใหม่ในปี พ.. ๒๔๖๔ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อส่งเป็นสินค้าออก[1] และสินค้าจากส่วนกลางก็เข้ามาเชียงใหม่มากขึ้น รวมทั้งวิทยาการความเจริญในทุกๆ ด้านด้วย

การปกครองเมืองเชียงใหม่ช่วง พ.. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๖ เป็นการปรับปรุงช่วงสุดท้ายก่อนยกเลิกระบบเทศาภิบาล ได้เริ่มเมื่อรัชกาลที่ ๗ ขึ้นครองราชย์ ทรงยกเลิกระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วง พ.. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๘ ทรงยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ยุบมณฑลมหาราษฎร์เข้ากับมณฑลพายัพ ยุบเลิกตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ ซึ่งว่างมานานแล้ว และทรงดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองโดยเด็ดขาด ซึ่งกำหนดว่านับตั้งแต่ พ.. ๒๔๖๙ เป็นต้นไป[2] หากตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นอีก ส่วนเจ้าเมืองที่มีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนจนถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยใน พ.. ๒๔๘๒ จึงเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ และหลังจากคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.. ๒๔๗๕ ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลลงใน พ.. ๒๔๗๖ มณฑลพายัพจึงสลายตัว ส่วนเมืองเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทยในอดีตก็มีฐานะเป็นเพียงจังหวัดเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ สืบมาจนปัจจุบัน

บทสรุป

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ โดยเป็นอิสระในสมัยที่ราชวงศ์มังรายปกครอง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองพม่ามีความเข้มแข็งมากสามารถตีเชียงใหม่สำเร็จใน พ.. ๒๑๐๑ และในเวลาต่อมาก็โจมตีอยุธยาสำเร็จอีกใน พ.. ๒๑๑๒ อยุธยาสามารถเป็นอิสระจากพม่าหลังจากถูกครอบครอง ๑๕ ปี ส่วนล้านนาไทยพยายามดิ้นรนเป็นอิสระอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถพ้นจากอิทธิพลของพม่าได้ ล้านนาไทยมีสภาพที่อ่อนแอถูกพม่าครอบครองเกือบตลอดเวลา มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่ฝ่ายอยุธยาเข้าครอบครอง[3]

อย่างไรก็ตามความคิดที่จะ ฟื้นม่าน” (ต่อต้านพม่า) ของชาวเชียงใหม่เกิดขึ้นเสมอ แต่ไม่สำเร็จเชียงใหม่ไม่สามารถขับไล่พม่าโดยลำพังได้ ในที่สุดใน พ.. ๒๓๑๗ พระยาจ่าบ้านและพระยา กาวิละเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วร่วมกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไปนับ ตั้งแต่นั้นมาเชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น พม่ายังคงรุกรานเชียงใหม่และหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยเพื่อหวังจะกลับมาปกครองอีก รัฐบาลสมัยนั้นต้องช่วยเหลือให้ล้านนาไทยเข้มแข็งสามารถต่อต้านกับพม่าได้ สมัยรัชกาลที่ ๑ มีนโยบายฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาไทยที่เข้มแข็ง โดยแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ ฟื้นเมืองเชียงใหม่และขับไล่ อิทธิพลพม่าให้หมดไป ซึ่งประสบความสำเร็จในปลายรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างมั่นคงและสามารถขับไล่พม่าออกไปจากที่มั่นที่เมืองเชียงแสนใน พ.. ๒๓๔๗

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราช รัฐบาลกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใน กิจการภายในทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณี เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงมีอิสระในการบริหารบ้านเมืองของตนเป็นอันมาก แต่มิได้หมายความว่ารัฐบาลกลางจะไม่ควบคุมเชียงใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางใช้วิธีการที่แสดงตนว่ามีฐานะที่เหนือกว่าเชียงใหม่ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง บุคคลที่ได้รับตำแหน่งต้องยอมรับในอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยการเข้าเฝ้าเพื่อรับตราตั้งและเครื่องยศ และวิธีการให้กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาซึ่งมีการสาบานว่าจะจงรักภักดี นอกจากนั้นยังให้เมืองเชียงใหม่ปฏิบัติตามพันธะของเมืองประเทศราชในรูปของการส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการ ส่วยและการเกณฑ์ของ และการเกณฑ์ช่วยราชการสงคราม เป็นต้น




[1] หจช. . ๖ ก./๒๗ รายงานตรวจราชการกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม พ.. ๒๔๕๘

[2] หจช. . ๗ รล. /๖ รายงานประชุมสภา ครั้งที่ ๗/๒๔๖๙ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.. ๒๔๖๙

[3] ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (.. ๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) และสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (.. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) อยุธยาครอบครองเชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล 2

สำหรับเมืองเชียงใหม่มีการต่อต้านเช่นเดียวกันซึ่งเกิดก่อนกบฏเงี้ยวเมืองแพร่แต่ไม่รุนแรงเท่า การต่อต้านการเกณฑ์แรงงานของราษฎรในเมืองเชียงใหม่เท่าที่พบหลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติครั้งแรกวันที่ ๑๘ มีนาคม ปลายปี พ.. ๒๔๔๔[1] โดยพระยานริศรราชกิจโทรเลขแจ้งทางกรุงเทพฯ ว่า ราษฎรแลแก่บ้านแขวงเมืองเชียงใหม่ร้องว่าเค้าสนามหลวงได้กะเกณฑ์ทำถนนหนทาง แลว่าได้เสียเงินแทนเกณฑ์แล้วยังถูกเกณฑ์อีก[2] และวันที่ ๒๓ เมษายน ต้นปี พ.. ๒๔๔๕ ราษฎรแขวงแม่วังและแขวงเกืองหลายร้อยคนขัดขืนไม่ยอมทำถนน ความรุนแรงของการประท้วงไม่ยอมทำตามคำสั่งของทางราชการเกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.. ๒๔๔๕ ณ ที่ทำการแขวงแม่งัด มีราษฎรประมาณ ๖๐๐ คน พร้อมอาวุธมีดดาบและไม้ พากันไปชุมนุมประท้วงกรมการแขวงแม่งัดและได้เกิดการปะทะกัน ตำรวจซึ่งอยู่ร่วมกับกรมการแขวงแม่งัดจำนวน ๑๐ นาย ใช้ปืนยิงถูกราษฎร ผลราษฎรตาย ๖ คน บาดเจ็บ ๒ คน ส่วนพวกกรมการแขวงบาดเจ็บ ๒ คน

ผลของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าจัดการปกครองมณฑลพายัพได้อย่างเต็มที่ โดยส่งกำลังทหารเข้าปราบพวกกบฏอย่างเฉียบขาด พร้อมกับลงโทษเจ้านายเมืองแพร่ด้วยการปลดออก แล้วให้ข้าราชการจากส่วนกลางดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นๆ เห็นว่าการต่อต้านรัฐบาลไม่มีทางสำเร็จ นอกจากยอมสนับสนุนแต่โดยดี หลังจากเกิดกบฏเงี้ยวท่าทีของเจ้านายเมืองเหนือจึงยอมรับอำนาจรัฐทุกอย่าง

ในการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองช่วงหลังกบฏเงี้ยวมีพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) (.. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๘) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง พระยา   สุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์เริ่มต้นแก้ไขปัญหาบุคลากร โดยคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถและเข้าถึงราษฎร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนั้นก็ใช้นโยบายผ่อนปรนไม่เกณฑ์แรงงานจนเกินไป ขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น ทั้งด้านการศึกษา การไปรษณีย์โทรเลข การสาธารณสุข และการซ่อมสร้างถนนและสะพานอย่างมากมาย

ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ปรากฏว่าเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ของ-รับเป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลกลางใช้วิธีคำนวณจากรายได้เท่าที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วกำหนดเป็นเงินเดือนซึ่งได้เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าเมืองคนสุดท้ายได้เงินเดือนๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาเพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ บาท[3] เงินเดือนนี้ถือเป็นการพระราชทานเฉพาะบุคคลเมื่อสิ้นชีวิตจะงดจ่ายทันที และการให้ผลประโยชน์เป็นเงินเดือนก็เท่ากับว่าเจ้าเมืองมีฐานะเหมือน         ข้าราชการทั่วไป นับเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราชในเวลาต่อมา

พระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์จัดการปกครองอยู่ ๑๓ ปี (.. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๘) ก็ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของรัฐบาลยิ่ง โดยเฉพาะด้านการศึกษาเป็นช่วงที่เกิดการปฏิรูปการศึกษาในล้านนา ราษฎรนิยมเรียนหนังสือไทยกันมาก การผสมกลมกลืนให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยค่อยประสบความสำเร็จเป็นลำดับ ส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานให้การสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งด้านการศึกษา และการทำนุบำรุงบ้านเมือง



[1] ช่วงนั้นนับ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่

[2] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๒๑ ราษฎรขัดขืนไม่ยอมทำตามคำสั่งทางราชการ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ร.. ๑๒๑

[3] หจช. . ๖ ค. ๑๑/๑ เงินเดือนเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.. ๒๔๖๓

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (.. ๒๔๔๒ - ๒๔๗๖)

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเริ่มจากหัวเมืองชั้นในก่อน แล้วขยายไปยังหัวเมืองประเทศ-ราชเริ่มตั้งแต่ พ.. ๒๔๓๗ จนถึง พ.. ๒๔๔๙ จึงทั่วพระราชอาณาจักร มณฑลพายัพจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล พ.. ๒๔๔๒ อย่างไรก็ตามดินแดนส่วนนี้ได้รับการปฏิรูปมาตั้งแต่ก่อนหน้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒) การจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชลานนาไทย มาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง

รูปแบบของมณฑลเทศาภิบาลได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการปกครองแบบเดิม โดยกำหนดให้แต่ละเมืองมีคณะกรรมการบริหารเรียกว่าเค้าสนามหลวง ประกอบด้วยข้าหลวงประจำเมือง เจ้าเมือง และข้าหลวงผู้ช่วย ซึ่งตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ คือ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (...ประยูร อิศรศักดิ์) เจ้าอุปราช (เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์) รั้งตำแหน่งเจ้าเมือง และขุนรัฐกิจข้าหลวงผู้ช่วย ด้านอำนาจหน้าที่เป็นของข้าหลวงประจำเมือง โดยเจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครอง      บ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติในนามเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าอุปราชซึ่งรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่พอใจการเข้าควบคุมของรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ข้าหลวงเทศาภิบาลลดอำนาจของข้าหลวงประจำเมืองลง และขอมีอำนาจกลับคืนดังเดิม[1] แต่ไม่ได้ผล

นอกจากจัดตั้งเค้าสนามหลวงเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดแล้ว ยังคงรูปแบบเสนา ๖ ตำแหน่งไว้ตามเดิม แม้ว่าจะไม่เหมาะสมกับกาลสมัยนักก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้เจ้านายบุตรหลานซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาต่างๆ ไม่พอใจการดำเนินงานของรัฐบาล และรัฐบาลใช้วิธีค่อยๆ เลิกเสนา ๖ ตำแหน่งไป โดยจัดข้าราชการจากส่วนกลางเข้าดำรงตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ แทน เช่น ปลัดเมือง ยกกระบัตร จ่าเมือง และสัสดี เป็นต้น

ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรัฐบาลเข้าควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป วิธีการนี้ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ ๑๐ เท่า เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเจ้านายเมืองเหนือ และรัฐบาลก็ได้จัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองออกเป็นเงินเดือน เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้ และเงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ รวมแล้วปีหนึ่งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จะมีรายได้ไม่น้อยนักคือ ประมาณ ๒๔๐,๒๗๗ บาท[2] แต่รายได้นี้ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้และเงินแทนเกณฑ์ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอน และในปี พ.. ๒๔๕๑ ได้ขอรับพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท[3] อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่จัดสรรรายได้ดังกล่าว เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ไม่พอใจนักแต่ก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ส่วนราษฎรก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากการปฏิรูประบบการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเก็บเงินแทนเกณฑ์จากชายฉกรรจ์จำนวน ๔ บาทต่อปี ซึ่งมักจะเสียเงินแล้วยังถูกเกณฑ์แรงงานเสมอ โดยทางการไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งตามปกติกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนในอัตราวันละ ๒ สลึง ราษฎรจึงเดือดร้อนและไม่พอใจข้าราชการจากส่วนกลางที่กวดขันเกณฑ์แรงงานสร้างถนนและสะพานทั้งในเมืองและนอกเมือง

หลังจากจัดการปกครองแบบเทศาภิบาลผ่านไป ๓ ปี ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา เนื่องจากความไม่พอใจของราษฎรและเจ้านายเมืองเหนือผู้เสียอำนาจและผลประโยชน์และปัญหาการขาดแคลนข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะตำแหน่งนายแขวง (นายอำเภอ) ซึ่งรัฐบาลกำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการจากส่วนกลางนั้นมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นแต่ละแขวงที่จัดตั้งขึ้นจึงมีพื้นที่กว้างขวางมาก ทั้งการคมนาคมก็ยากลำบากนายแขวงจึงดูแลไม่ทั่วถึง ซ้ำนายแขวงส่วนหนึ่งไม่เข้าถึงประชาชน ดูหมิ่นชาวพื้นเมืองและใช้อำนาจกดขี่เกณฑ์แรงงานจนเกินไป ปัญหาเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามเมืองต่างๆ ในมณฑลพายัพ แต่ที่ลุกลามเป็นการต่อต้านครั้งใหญ่เกิดที่เมืองแพร่ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.. ๒๔๔๕ พวกกบฏเป็นกองโจรเงี้ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นพวกกบฏ    ยึดเมืองสำเร็จ เงี้ยวชาวเมืองและราษฎรได้ร่วมมือกับโจรเงี้ยวเข่นฆ่าข้าราชการจากส่วนกลางถึง ๒๐ กว่าคน



[1] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๔๒ พระยาศรีสหเทพกราบทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ที่ ๕๘๓/๘๒๒๔ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ร.. ๑๑๘

[2] หจช. . ๕ ม. ๒๘./๔ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ที่ ๘๘/๘๑๘๒ ลงวันที่ ….. กุมภาพันธ์ ร.. ๑๒๗

[3] เรื่องเดียวกัน

วันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

การปรับปรุงมณฑลการปกครอง

การดำเนินงานครั้งนี้มีพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียงเป็นเวลา ๖ ปี (.. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒) และได้ขยายเขตการปฏิรูปออกไปจากเดิมถึงเมืองแพร่และเมืองน่านด้วย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น พระยาทรงสุรเดชจัดการหลายด้านซึ่งสามารถรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลางสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง

ด้านการปกครองในระดับมณฑล พระยาทรงสุรเดชริเริ่มจัดตั้งกองมณฑลลาวเฉียงซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก กองมณฑลมีพระยาทรงสุรเดชข้าหลวงใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และมีข้าหลวงรองในตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง ข้าหลวงป่าไม้ และมี        ข้าราชการระดับเสมียนพนักงานประจำอยู่ในกองมณฑล รูปแบบการปกครองดังกล่าวจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับการปกครองมณฑลเทศาภิบาลซึ่งจะจัดในสมัยต่อมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่รัฐบาลกลางได้เตรียมพื้นฐานที่จะปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในมณฑลพายัพให้เป็นแบบแผนเช่นเดียวกับมณฑลภายใน และข้อบกพร่องครั้งนี้จะได้รับการแก้ไขในสมัยมณฑลเทศาภิบาล

ส่วนการปกครองในเมืองเชียงใหม่ พระยาทรงสุรเดชตั้งตำแหน่งพระยาผู้ช่วยเสนาทั้ง ๖ ให้ครบทุกตำแหน่ง หลังจากที่ถูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกเลิกไปในครั้งที่เจ้าพระยาพลเทพเป็นข้าหลวงพิเศษในพ.. ๒๔๓๓ การตั้งเสนา ๖ ตำแหน่ง พระยาทรงสุรเดชใช้วิธีการที่เรียกว่า อุบายเกี้ยวลาว[1] โดยเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้แต่งตั้งผู้ช่วยเสนา ๖ ตำแหน่งขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชดึงตัวข้าราชการที่ทำการในกองมณฑลมาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้ช่วยเสนาคลังและ     ผู้ช่วยเสนานา ทั้งยังดึงเอาตำแหน่งสำคัญทั้งสองมารวมไว้ที่ว่าการมณฑลลาวเฉียง การกระทำดังกล่าวก็เท่ากับที่ว่าการมณฑลแย่งตำแหน่งและงานต่างๆ ที่ระดับเมืองเคยทำ ซึ่งเจ้านายบุตรหลานเริ่มไม่พอใจเพราะเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว และเกรงว่ารัฐบาลจะยกตำแหน่งต่างๆ ไปไว้ ณ ที่ว่าการมณฑลเสียหมดจนกระทั่งตนไม่มีอำนาจหน้าที่จะทำกิจการใดๆ ความไม่พอใจการกระทำของพระยาทรงสุรเดช เป็นสาเหตุให้เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ทำหนังสือร้องเรียนนำขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕

การปกครองในเมืองอื่นๆ พระยาทรงสุรเดชจัดส่งข้าหลวงไปประจำเมืองตามลำดับความสำคัญคือ พระยาทรงสุรเดชถือเป็นข้าหลวงที่ ๑ ประจำอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ โดยเขตการปกครองรวมไปถึงเมืองลำพูนด้วย รองลงมามีข้าหลวงที่ ๒ ประจำอยู่ที่เมืองลำปางและเมืองน่าน และข้าหลวงที่ ๓ ประจำที่เมืองแพร่ ข้าหลวงที่ส่งไปประจำเมืองจะเป็นตัวแทนของข้าหลวงใหญ่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่เจ้านายบุตรหลานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตามในช่วงที่พระยาทรงสุรเดชดำเนินการปฏิรูปไม่ปรากฏว่า ได้มีการ       เปลี่ยนแปลงในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านแต่อย่างใด คงปล่อยให้มีสภาพดังเดิม การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นจะเด่นชัดในสมัยที่มีการปกครองแบบเทศาภิบาล

ในด้านการคลัง พระยาทรงสุรเดชรวบอำนาจไว้ไม่ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านาย      บุตรหลานใช้จ่ายอย่างอิสระ โดยกำหนดให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้รับเงินผลประโยชน์ (ไม่รวมค่าตอไม้)    ปีละ ๘๐,๐๐๐ รูปี[2]ซึ่งในขณะที่ดำเนินการอยู่นั้นเจ้าเชียงใหม่อินทรวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัย พระยา  ทรงสุรเดชจึงตัดเงินผลประโยชน์ให้เหลือปีละ ๓๐,๐๐๐ รูปี พร้อมทั้งลดเงินเดือนเจ้านายบุตรหลานที่รับ   ราชการ และจัดการโยกย้ายถอดถอนบางตำแหน่งแล้วให้ข้าราชการไทยเป็นแทนพร้อมกับเพิ่มเงินเดือนให้

การจัดการของพระยาทรงสุรเดชสร้างความรู้สึกบีบคั้นต่อเจ้านายบุตรหลานในเมืองเชียงใหม่มากจนเกิดการแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายข้าหลวงและฝ่ายเจ้านายบุตรหลาน ซึ่งมีความรุนแรงถึงขนาดแบ่งเขตแดนกัน โดยฝ่ายข้าหลวงอยู่ด้านริมแม่น้ำปิง[3] ส่วนเจ้านายบุตรหลานอยู่ในกำแพงเมืองและทั้งสองฝ่ายมุ่งประทุษร้ายต่อกัน สถานการณ์จึงตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ไขโดยเรียกตัวพระยาทรงสุรเดชกลับกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ซึ่งไม่เข้มงวดเช่นพระยาทรงสุรเดชขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแทน และจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ดำเนินการปฏิรูป (ธันวาคม ๒๔๔๒ - เมษายน ๒๔๔๓)



[1] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๓๓ พระยาศรีสหเทพกราบทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ลับที่ ๑๐/๑๓๕๒ ลงวันที่ ๒ เมษายน ร.. ๑๑๙  

[2] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๔๐ เรื่องจัดระเบียบเก็บเงินค่าราชการแลผลประโยชน์ในมณฑลพายัพ ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ร.. ๑๑๕

[3] ที่ทำการข้าหลวงอยู่ริมแม่น้ำปิง ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งศาลาเทศบาลนครเชียงใหม่

กบฏพระยาปราบสงคราม

 
กบฏพระยาปราบสงครามเกิดขึ้นในปี พ.. ๒๔๓๒ ที่ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่[1] เรื่องราวเกี่ยวกับกบฏพระยาปราบสงครามเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงมีการศึกษา    ค้นคว้ากันมาบ้างแล้ว[2] แต่ยังสามารถตีความในแนวทางอื่นได้อีก ซึ่งผู้เขียนพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยใช้หลักฐานจากการสัมภาษณ์บุคคลที่สูงอายุในท้องถิ่น ประกอบกับหลักฐานของทางราชการที่        หอ    จดหมายเหตุแห่งชาติ

จากการศึกษาพบว่า พระยาปราบสงครามผู้นำกบฏมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความสามารถสูง และเป็นผู้ปกครองระดับท้องถิ่นโดยได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้  ปกครองและเก็บภาษีด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือบริเวณแขวงจ๊อม (หนองจ๊อม) แขวงคือ (แม่คือ) และแขวงกอก[3] จากหลักฐานของทางราชการระบุชัดเจนว่าพระยาปราบสงครามเป็นแคว่น (กำนัน) แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ของพระยาปราบสงครามซึ่งได้ปกครองแคว่นและแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) โดยพิจารณาจากคำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ของเจ้าพระยาพลเทพ มีความตอนหนึ่งว่า เป็นต้นท้าวขุนกรมการแขวงกำนันนายบ้าน[4] เพราะฉะนั้นหากเทียบอำนาจหน้าที่นี้คงเท่ากับนายอำเภอ แต่ในสมัยนั้นบริเวณ ๓ แขวงดังกล่าวขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นอำเภอดังปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์บุคคลในท้องถิ่นต่างมีความเห็นตรงกันว่า พระยาปราบสงครามเป็นผู้นำท้องถิ่นที่เก่งกล้าด้านไสยศาสตร์และการรบพุ่ง เป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่องลือในหมู่บ้านละแวกนั้น ซึ่งคงมีส่วนทำให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากการเก็บภาษีเข้าร้องเรียนต่อพระยาปราบสงคราม พระยาปราบสงครามจึงออกปกป้องราษฎรจนลุกลามเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม

เหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงครามมีจุดเริ่มต้นจากระบบเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือออกเก็บปีละครั้งแทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรกำหนดให้มีการเสียภาษีเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นระบบใหม่แม้ไม่มีการซื้อขายก็ต้องถูกเก็บภาษีหรือยังไม่ทันขายก็ต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้ราษฎรไม่สามารถหาเงินมาเสียได้ทัน ราษฎรจึงต้องการเสียภาษีเป็นผลผลิตทางเกษตรตามระบบการเก็บภาษีแบบเดิมของลานนาไทย

น้อยวงษ์เป็นผู้ประมูลภาษีหมาก มะพร้าว พลู ได้ในอัตราปีละ ๔๑,๐๐๐ รูปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเดิมถึง ๑๖,๐๐๐ รูปี[5] ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาให้มากที่สุด น้อยวงษ์ได้ออกเก็บภาษีตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ในอัตราที่สูงกว่าเดิม คือ หมาก ๒ ต้น ต่อวิ่น มะพร้าว ๑ ต้น ต่อวิ่น (๑ วิ่น = ๑๒.๕ สตางค์) ราษฎรที่ปลูกพืชสวนดังกล่าวได้รับการเดือดร้อนจากการข่มเหงของพวกเจ้าภาษีที่บังคับให้จ่ายค่าภาษีตามที่ตนกำหนดซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะแขวงคือ แขวงจ๊อม และแขวงกอก ในเขตพระยาปราบสงครามปกครอง เป็นบริเวณที่นิยมปลูกต้นหมากกันมากมายจนต้องใช้วิธีการนับโดยจักตอกมัดละร้อย นำไปมัดตามโคนต้นหมาก แล้วหักลบออกจากตอกที่เหลือ[6] แต่ละบ้านจะต้องเสียภาษีระหว่าง ๘๐ - ๒๐๐ รูปี[7] ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก[8] เมื่อเทียบกับสมัยที่พระยาปราบสงครามทำหน้าที่เก็บภาษีส่งให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะเก็บภาษีหลังคาเรือนครอบครัวละ ๕ รูปี ส่วนข้าวก็เก็บตามจำนวนพันธุ์ที่ใช้ปลูกในอัตราพันธุ์ข้าวปลูก ๑ ถัง เสียส่วย ๒ ถัง

เมื่อพวกเจ้าภาษีมาเก็บอากรพืชสวนดังกล่าวในเขตแขวงจ๊อม (ตำบลหนองจ๊อม อำเภอ สันทรายในปัจจุบัน) ราษฎรส่วนหนึ่งไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าภาษีได้จึงขอเสียเป็นผลผลิต พวก  เจ้าภาษีไม่ยอมกลับข่มเหงจำขื่อมือเท้าราษฎร สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรที่พบเห็นเกิดรวมตัวกันต่อต้านพวกเจ้าภาษีโดยมีพระยาปราบสงครามเป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มต่อต้านด้วยการประกาศห้ามไม่ให้    เจ้าภาษีเก็บภาษีในเขตตำบลหนองจ๊อมแล้วลุกลามใหญ่โตถึงกับวางแผนจะเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ โดยมุ่งหมายจะสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและเจ้าภาษีชาวจีนในฐานะผู้สร้างความเดือดร้อน[9] แต่ถูกทางการปราบปรามเสียก่อนโดยที่พระยาปราบสงครามหลบหนีไปได้จึงรวมกำลังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหลังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงตุง สามารถยึดเมืองฝางได้ อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ถูกทางการปราบปรามจนสำเร็จ[10]

สาเหตุของกบฏพระยาปราบสงครามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการ    ปกครองและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงพยายามต่อต้านการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองตลอดมา และในเหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงคราม เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ก็มีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง[11]

ในการตีความเท่าที่ผ่านมาต่างก็ยอมรับว่าเจ้านายในเมืองเชียงใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏด้วย[12] แต่ไม่มีผู้ใดพิจารณาต่อไปว่าการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรนั้น ได้กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย    ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ ก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครองเป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บ     รวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ข้าราชการท้องถิ่นจึงสูญเสียผลประโยชน์ และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็น    ข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น เช่น พระยาปราบสงคราม แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ เป็นต้น[13]

สำหรับสาเหตุที่ผลักดันให้พระยาปราบสงครามก่อการกบฏผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นผลโดยตรงจากการสูญเสียผลประโยชน์ด้านการจัดเก็บภาษีด้านแม่ปิงฝั่งตะวันออก นอกจากนั้นยังมีสาเหตุประกอบการตัดสินใจของพระยาปราบสงครามอีกด้วย ได้แก่ การได้รับความสนับสนุนจากเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ และไม่พอใจการทำทารุณต่อราษฎรในความปกครอง ซึ่งพระยาปราบสงครามตาม     คำบอกเล่าเป็นคนดีรักความยุติธรรม

หลังจากเกิดกบฏพระยาปราบสงคราม อำนาจของรัฐบาลกลางเริ่มลดลงตามลำดับจนมีลักษณะคล้ายระบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกกระทบกระเทือนใจของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ดำเนินการปฏิรูป ในช่วงหลังกบฏพระยาปราบสงคราม (.. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๕) จึงไม่มีการแก้ไขปัญหาทันที

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลลาวเฉียง (.. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒)

ความจำเป็นต้องปรับปรุงการปกครองมณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพในเวลาต่อมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลไทยต้องยอมยกหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งมีปัญหาวุ่นวายเสมอมาให้แก่รัฐบาลอังกฤษในปี พ.. ๒๔๓๕ และในปี พ.. ๒๔๓๖ ไทยก็เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศสในวิกฤตกาล ร.. ๑๑๒ ทำให้เขตแดนด้านตะวันออกของมณฑลลาวเฉียงต้องเผชิญกับการรุกรานของฝรั่งเศสตลอดมา ในที่สุดไทยต้องเสียหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งขึ้นกับเมืองน่านแก่ฝรั่งเศสใน พ.. ๒๔๔๖



[1] รายละเอียดเรื่องพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) ดู สรัสวดี อ๋องสกุล, “กบฏพระยาปราบสงคราม แม่ทัพเมืองเชียงใหม่ พ.. ๒๔๓๒๑๔ หน้า (อัดสำเนา)

[2] ชูสิทธิ์ ชูชาติ, “กบฏพญาผาบ (ปราบสงคราม) : กบฏชาวนาในภาคเหนือ”, วารสารสังคมศาสตร์, (ตุลาคม ๒๕๒๒ - มีนาคม ๒๕๒๓) : ๒๔ - ๓๔ ชูสิทธิ์เน้นปัญหาเศรษฐกิจและพยายามชี้ว่าพญาผาบ (ปราบสงคราม) เป็น  ชาวนาธรรมดาไม่มีตำแหน่งทางราชการเลยและวัลลภ รุ่งศิริแสงรัตน์, “กบฏไทยเขินเมืองเชียงใหม่ ปี พ.. ๒๔๓๒”, แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ๑ (มกราคม มิถุนายน ๒๕๒๓) : ๖๗ - ๖๘ วัลลภา ตีความในแนวทางปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ โดยเน้นว่าอังกฤษมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการช่วยเหลือพระยาปราบสงครามของเจ้าเมืองเชียงตุง และอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลทางการเมืองในลานนา

[3] ในปัจจุบัน ๓ แขวงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง จากการสำรวจมีบริเวณกว้างขวางเทียบได้กับอำเภอหนึ่ง

[4] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕  ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[5] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕  ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[6] สัมภาษณ์ลุงหนาน นันตา อายุ ๕๑ ปี บ้านสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๓

[7] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

[8] แต่เดิมเข้าใจว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีประเภทนี้มาก่อน และราษฎรไม่เคยเสียภาษีอากรมากมายถึงเพียงนี้ ดู หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยามหาพลเทพฯ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[9] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

[10] หจช. . ๕ ต. ๔๐/๓ รายงานหลวงประชาคดีกิจกราบทูลพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ เรื่องปราบกบฏพระยาปราบสงคราม ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[11] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑๐๓ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ที่ ๑๘/๑๑๙ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[12] ดู ชูสิทธิ์ ชูชาติ, เรื่องเดียวกัน และวัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน

[13] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

Our links