Our links

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ 2

อย่างไรก็ตามตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นตำแหน่งการเมืองซึ่งคัดเลือกโดยเค้าสนามหลวงแล้วเสนอให้เจ้าเมืองแต่งตั้งและมีสิทธิโยกย้ายหรือถอดถอนได้ ซึ่งเป็นการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ควบคุมเสนาทั้ง ๖ ด้วย และเป็นนโยบายที่ต้องการไม่ให้ตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นอิสระจนเกินไป ซึ่งมีผลทำให้เสนาทั้ง ๖ และเค้าสนามหลวงมีความสัมพันธ์กัน[1]

การจัดการปกครองแบบใหม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องเก็บภาษีจาก ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยที่รัฐบาลกลางไม่ต้องส่งเงินมาช่วย และเมื่อมีเงินเหลือจ่ายตามงบประมาณในแต่ละปีกำหนดว่าต้องนำส่งรัฐบาลกลาง เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของการปฏิรูปการปกครองจึงมีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรให้เป็นแบบเดียวกับระบบกรุงเทพ ดังนี้

ประการแรก การจัดระบบผูกขาดให้เจ้าภาษีนายอากรประมูล ครั้งแรกมีภาษี ๕ ชนิด คือ ภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีนา ภาษีครั่ง และสมพัตสรต้นไม้[2]

ประการที่สอง การเพิ่มชนิดของภาษีอากรขึ้นใหม่หลายอย่าง แยกตามหมวดหมู่ได้ถึง ๙ ประเภท ซึ่งแต่เดิมเท่าที่พบมีภาษีข้าวและภาษีหลังคาเรือนเท่านั้น[3]

ประการสุดท้าย รูปแบบการเก็บภาษี เดิมเก็บเป็นผลผลิต เช่น ปลูกข้าวเสียภาษีเป็นข้าว แต่ระบบใหม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรายังไม่แพร่หลาย ราษฎรยังเคยชินกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของและระบบเศรษฐกิจคงเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง

การจัดเก็บภาษี ระบบกรุงเทพฯดังกล่าว นับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ    ครั้งใหญ่ในล้านนาไทยที่มีผลกระทบกระเทือนต่อราษฎรอย่างยิ่ง เพราะราษฎรนอกจากจะถูกขูดรีดจากเจ้าภาษีนายอากรแล้วยังต้องจ่ายภาษีเป็นเงินจำนวนมาก ราษฎรจึงเดือดร้อน

 
กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงทำหน้าที่วางรากฐานกับการปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียงเท่านั้น โดยใช้เวลาเพียงปีเศษ (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๒๘) ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อช่วยราชการด้านอื่นต่อไป      รัฐบาลกลางได้จัดส่งข้าหลวงคนต่อมาปกครอง โดยมีนโยบายให้จัดการปกครองตามแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางรากฐานไว้ แต่รูปแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางไว้เสื่อมคลายลงเป็นลำดับนับตั้งแต่พระยาเพชรพิไชย (จิน จารุจินดา) (.. ๒๔๓๑) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงห้าหัวเมือง พระยาเพชรพิไชยแทนที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐบาลกลาง กลับเป็นใจให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ล้มเลิกระเบียบแบบแผนต่างๆ โดยเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยกเลิกเสนา ๖ ตำแหน่ง ยกเลิกระบบภาษีอากรแบบกรุงเทพฯ ขอใช้ระบบเดิมคือเก็บส่วยในอัตรา ๑๐ ชัก ๒ แล้วให้นำส่งเค้าสนาม ขอเก็บภาษีข้าวเป็นผลผลิตและเก็บภาษีหลังคาเรือน ในคำประกาศนั้นอ้างว่าเทพยดาที่รักษาบ้านเมืองไม่พอใจการดำเนินงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร จึงบันดาลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยเจ้าเมืองเชียงใหม่คนก่อนๆ[4] นับเป็นวิธีการที่อ้างความเชื่อถือของราษฎรเป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งเข้าใจว่าราษฎรบางส่วนคงเห็นด้วยกับคำประกาศ เพราะกำลังเดือดร้อนกับการกดขี่ของเจ้าภาษีนายอากรอยู่แล้ว

หลังจากเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศให้ราษฎรทราบแล้ว ก็นำความกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ ๕ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เข้าสู่ระบบเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน พระยาเพชรพิไชยกลับยินยอมให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ยกเลิกระบบการเก็บภาษีแบบกรุงเทพฯ โดยพลการ นอกจากนั้นพระยาเพชรพิไชยยังใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ เช่น ทุจริตเงินหลวงถึง ๑๖,๓๗๗ รูปี[5] และร่วมมือกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้อนุญาตเปิดบ่อนการพนัน ทั้งที่เมื่อสมัยกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงมีประกาศห้ามเล่นการพนันทุกชนิดเป็นอันขาด[6]

พระยาเพชรพิไชยกระทำผิดอย่างร้ายแรงดังกล่าว จึงถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ ทันที และผลการปฏิบัติงานของพระยาเพชรพิไชยสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการไทยที่ส่วนกลางส่งมา เนื่องจากมีข้าราชการไทยอีกกลุ่มหนึ่งพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลางอย่างเต็มที่ ความแตกแยกของข้าราชการไทยทำให้ราชการต่างๆ หยุดชะงักลง และเป็นโอกาสให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เรียกร้องอำนาจและผลประโยชน์คืน

ในการแก้ไขปัญหารัฐบาลกลางส่งข้าหลวงชุดใหม่มา ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ   พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ และพระยามหาเทพในตำแหน่งข้าหลวงห้า   หัวเมือง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลาง แต่สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ)



[1] เรื่องเดียวกัน

[2] หจช. . ๕ ม. ๙๙/๓ รายงานหลวงอนุรักษ์ภูเบศกราบทูลเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ลงวันที่ ๖ ฯ ๓ ค่ำ ปีวอก จ.. ๑๒๔๖

[3] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑๙๓ พิกัดภาษีอากรมณฑลพายัพ (.. ๑๐๓ - ๑๐๔)

[4] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๘๙ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์กราบทูลราชการเมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ ๓ ฯ ๑๐ ค่ำ ปีชวด จ.. ๑๒๕๐

[5] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๓ เจ้าพระยารัตนบดินทร์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ลงวันที่ ๓ เมษายน ร.. ๑๐๘ - ๒๗ มิถุนายน ร.. ๑๐๘

[6] หจช. . ๕ มท. .. ๑๒๕๐ เล่ม ๓๖ หน้า ๑๙๔ - ๑๙๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links