Our links

วันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

พระยาติโลกราช (ต่อ)

หลังจากนั้น ข้าราชการขุนนางได้พร้อมใจกันเชิญพระไชยเชษฐาธิราชแห่งเมืองล้านช้าง ซึ่งเป็นราชโอรสของพระนางยอดคำทิพ พระราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้ากับพระเจ้าโพธิสารให้มา ปกครองเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาปกครองระหว่าง พ.. ๒๐๘๙ - ๒๐๙๐ ปกครองเชียงใหม่ได้ประมาณสองปี พระเจ้าโพธิสารราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้เสด็จกลับไปปกครองเมืองล้านช้าง เมืองเชียงใหม่จึงว่างกษัตริย์ลงอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมา ข้าราชการขุนนางจึงพิจารณาเห็นพ้องกันว่าให้อัญเชิญพระเมกุฏิ (เจ้าฟ้าแม่กุ) แห่งเมืองนาย ซึ่งพระเมกุฏิทรงเป็นเชื้อสายของขุนเครือราชบุตรพ่อขุนมังรายมาปกครองเชียงใหม่ พระ    เมกุฏิปกครองระหว่าง ๒๐๙๔ - ๒๑๐๑ นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังรายที่ปกครองเชียงใหม่ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

จากหลักฐานตำนานเชียงใหม่ฉบับวัดหมื่นล้านกล่าวว่า บ้านเมืองในสมัยพระเมกุฏินั้นอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนานับประการจากการกระทำของขุนนางพม่า[1] ที่พระเมกุฏิมอบอำนาจให้ปกครองบ้านเมือง ได้มีการสั่งเกณฑ์แรงงานจากประชาชนอย่างหนัก เรียกเก็บภาษีมาก ทำให้ประชาชนไม่พอใจและเดือดร้อนมาก ดังปรากฏข้อความว่า

“ … ในขณะนั้นบ้านเมืองทั้งมวลก็คว่ำเขือก เป็นทุกข์ด้วยกาน (การ) บ้านกานเมืองมากนัก ผัวไปทางหนึ่งเมียไปทางหนึ่ง ต่อเก็บส่วยไรก็พ้นประหมาน (มาก) ชุอันเป็นหย่อมหญ้าข้าเมืองนั้นแล เขานั่งไหนไห้ (ร้องไห้) หั้น ด้วยมหาราชเจ้ามีอาชญา หื้อคนพาลาเก็บส่วนไร้ร่ำล้นพ้นประมาณ ไพร่ฟ้าข้าเมืองหาสังจักออกจักเสียก็บ่ได้ เขาก็นั่งไหนไห้หั้น ขณะนั้นบ้านเมืองทังมวลเกิดโกลาหนชุบ้านชุที่ ทุกขภัยอยากน้ำกั้นข้าวมากนัก บ้านเหนือรบบ้านใต้ บ้านใต้รบบ้านเหนือ ครุบชิงกัน (แย่งชิงกัน) เอาข้าวของหั้นแล บ้านเมืองทังมวล ก็ตระหมอดหอดหิว (อดอยาก) แห้งแล้งมากนัก น้ำฟ้าน้ำฝนก็บ่ตกมาได้แล [2]

สำหรับความเสื่อมของเมืองเชียงใหม่ ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณซึ่งได้เขียนไว้ในตำนานเชียงใหม่ ฉบับวัดหมื่นล้าน (พิมพ์โดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ๒๕๑๙ ปัจจุบันเท่าที่พบเป็นตำนานเรื่องเดียวที่กล่าวถึงความเสื่อมของเชียงใหม่) กล่าวว่าเมื่อบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายนั้น ประชาชนและขุนนางได้อาราธนาสมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระไปกราบทูลพระเมกุฏิทรงทราบว่า บ้านเมืองจะพินาศฉิบหายด้วยพระองค์ได้ละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิมของบ้านเมือง และการกระทำบางอย่างเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือฉิบหาย ซึ่งภาษาล้านนาไทยเรียกว่า ต้องขึดสมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระ    กราบทูลขอให้พระเมกุฏิทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีของล้านนาไทย ทั้งนี้เพราะพระเมกุฏิและขุนนางจากเมืองนายมีวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างแตกต่างจากล้านนาไทย การกระทำบางอย่างคนเมืองเหนือถือว่าไม่เสียหายแต่คนล้านนาไทยถือว่าจะเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือ ต้องขึดจากตำนานเชียงใหม่พอสรุปว่าบ้านเมืองเชียงใหม่เสื่อมเพราะการกระทำของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ได้ดังนี้

ประการแรก พระเมกุฏิอนุญาตให้สร้างกำแพงใหม่ล้อมกำแพงเก่าในลักษณะราหูอมจันทร์ ประการที่สอง พระเมกุฏิไม่ควบคุมดูแลขุนนางพม่า (ที่มาจากเมืองนาย) อนุญาตให้ประชาชนนำศพผ่านออกประตูช้างเผือก อ้อมไปทางแจ่งหัวริน ผ่านประตูสวนดอกและแจ่งกู่เฮืองแล้วจึงเผา เชื่อว่าเป็นการย่ำอายุเมืองเชียงใหม่ ประการที่สาม ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนนำโลงศพที่เผาศพแล้วเหลือโลงไว้นำโลงกลับเข้ามาในเมือง ซึ่งผิดจารีตประเพณีเดิม ประการที่สี่ ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนบางคนเผาศพภายในกำแพงเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณเกาะ และในวัด ซึ่งไม่ทำกันมาก่อน ประการที่ห้า อนุญาตให้ประชาชนกวนน้ำและระบายน้ำในหนองบัว ๗ กอให้แห้ง (ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ลุ่มตรงข้ามคูเมืองบริเวณแจ่งศรีภูมิ) ซึ่งเป็นหนองน้ำสำคัญของเมือง ประการที่หก ลำน้ำห้วยแก้วมีประชาชนไปกั้นทางน้ำให้ไหลเข้าเมืองโดยสะดวก ประการที่เจ็ด เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ชักลากมาในฤดูฝนล่องตามแม่น้ำและเหมืองฝาย ทำให้ทำนาได้ไม่สะดวก ประชาชนได้รับความลำบากมาก ประการที่แปด พระเมกุฏิห้ามประชาชนบูชาบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ เสาอินทขีล และผีบ้านผีเมือง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของคนล้านนาไทย การกระทำดังกล่าวของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ คนล้านนาไทยเชื่อว่าทำให้บ้านเมืองเสื่อม เทพยดาอารักษ์ไม่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง เมื่อพม่ายกกองทัพมาโจมตี จึงเสียเมืองแก่พม่า (พระเจ้าบุเรงนอง) โดยง่าย

ดังนั้น จะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่สมัยพระเมกุฏิปกครองนั้น บ้านเมืองอ่อนแอ ประชาชน    ข้าราชการ ขุนนาง แตกความสามัคคี จนยากจะแก้ไขให้เข้มแข็งดังเดิมได้ จึงเสียเอกราชแก่พระเจ้า    บุเรงนองในปี พ.. ๒๑๐๑ ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานนับสองร้อยปีเศษ จึงสามารถขับไล่พม่าออกไปในสมัยราชวงศ์กาวิละ


[1] ขุนนางพม่า ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เป็นขุนนางของพระเมกุฏิที่ร่วมคณะมาจากเมืองนาย ขุนนางเหล่านี้ตามตำนานเรียกว่า ขุนนางพม่า หมายความว่า ไม่ใช่ขุนนางล้านนาไทย.

[2] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดหมื่นล้าน ปริวรรต และพิมพ์เผยแพร่ โดย ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๒๙, หน้า ๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links