Our links

วันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

กบฏพระยาปราบสงคราม

 
กบฏพระยาปราบสงครามเกิดขึ้นในปี พ.. ๒๔๓๒ ที่ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่[1] เรื่องราวเกี่ยวกับกบฏพระยาปราบสงครามเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงมีการศึกษา    ค้นคว้ากันมาบ้างแล้ว[2] แต่ยังสามารถตีความในแนวทางอื่นได้อีก ซึ่งผู้เขียนพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยใช้หลักฐานจากการสัมภาษณ์บุคคลที่สูงอายุในท้องถิ่น ประกอบกับหลักฐานของทางราชการที่        หอ    จดหมายเหตุแห่งชาติ

จากการศึกษาพบว่า พระยาปราบสงครามผู้นำกบฏมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความสามารถสูง และเป็นผู้ปกครองระดับท้องถิ่นโดยได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้  ปกครองและเก็บภาษีด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือบริเวณแขวงจ๊อม (หนองจ๊อม) แขวงคือ (แม่คือ) และแขวงกอก[3] จากหลักฐานของทางราชการระบุชัดเจนว่าพระยาปราบสงครามเป็นแคว่น (กำนัน) แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ของพระยาปราบสงครามซึ่งได้ปกครองแคว่นและแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) โดยพิจารณาจากคำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ของเจ้าพระยาพลเทพ มีความตอนหนึ่งว่า เป็นต้นท้าวขุนกรมการแขวงกำนันนายบ้าน[4] เพราะฉะนั้นหากเทียบอำนาจหน้าที่นี้คงเท่ากับนายอำเภอ แต่ในสมัยนั้นบริเวณ ๓ แขวงดังกล่าวขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นอำเภอดังปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์บุคคลในท้องถิ่นต่างมีความเห็นตรงกันว่า พระยาปราบสงครามเป็นผู้นำท้องถิ่นที่เก่งกล้าด้านไสยศาสตร์และการรบพุ่ง เป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่องลือในหมู่บ้านละแวกนั้น ซึ่งคงมีส่วนทำให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากการเก็บภาษีเข้าร้องเรียนต่อพระยาปราบสงคราม พระยาปราบสงครามจึงออกปกป้องราษฎรจนลุกลามเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม

เหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงครามมีจุดเริ่มต้นจากระบบเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือออกเก็บปีละครั้งแทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรกำหนดให้มีการเสียภาษีเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นระบบใหม่แม้ไม่มีการซื้อขายก็ต้องถูกเก็บภาษีหรือยังไม่ทันขายก็ต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้ราษฎรไม่สามารถหาเงินมาเสียได้ทัน ราษฎรจึงต้องการเสียภาษีเป็นผลผลิตทางเกษตรตามระบบการเก็บภาษีแบบเดิมของลานนาไทย

น้อยวงษ์เป็นผู้ประมูลภาษีหมาก มะพร้าว พลู ได้ในอัตราปีละ ๔๑,๐๐๐ รูปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเดิมถึง ๑๖,๐๐๐ รูปี[5] ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาให้มากที่สุด น้อยวงษ์ได้ออกเก็บภาษีตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ในอัตราที่สูงกว่าเดิม คือ หมาก ๒ ต้น ต่อวิ่น มะพร้าว ๑ ต้น ต่อวิ่น (๑ วิ่น = ๑๒.๕ สตางค์) ราษฎรที่ปลูกพืชสวนดังกล่าวได้รับการเดือดร้อนจากการข่มเหงของพวกเจ้าภาษีที่บังคับให้จ่ายค่าภาษีตามที่ตนกำหนดซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะแขวงคือ แขวงจ๊อม และแขวงกอก ในเขตพระยาปราบสงครามปกครอง เป็นบริเวณที่นิยมปลูกต้นหมากกันมากมายจนต้องใช้วิธีการนับโดยจักตอกมัดละร้อย นำไปมัดตามโคนต้นหมาก แล้วหักลบออกจากตอกที่เหลือ[6] แต่ละบ้านจะต้องเสียภาษีระหว่าง ๘๐ - ๒๐๐ รูปี[7] ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก[8] เมื่อเทียบกับสมัยที่พระยาปราบสงครามทำหน้าที่เก็บภาษีส่งให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะเก็บภาษีหลังคาเรือนครอบครัวละ ๕ รูปี ส่วนข้าวก็เก็บตามจำนวนพันธุ์ที่ใช้ปลูกในอัตราพันธุ์ข้าวปลูก ๑ ถัง เสียส่วย ๒ ถัง

เมื่อพวกเจ้าภาษีมาเก็บอากรพืชสวนดังกล่าวในเขตแขวงจ๊อม (ตำบลหนองจ๊อม อำเภอ สันทรายในปัจจุบัน) ราษฎรส่วนหนึ่งไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าภาษีได้จึงขอเสียเป็นผลผลิต พวก  เจ้าภาษีไม่ยอมกลับข่มเหงจำขื่อมือเท้าราษฎร สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรที่พบเห็นเกิดรวมตัวกันต่อต้านพวกเจ้าภาษีโดยมีพระยาปราบสงครามเป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มต่อต้านด้วยการประกาศห้ามไม่ให้    เจ้าภาษีเก็บภาษีในเขตตำบลหนองจ๊อมแล้วลุกลามใหญ่โตถึงกับวางแผนจะเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ โดยมุ่งหมายจะสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและเจ้าภาษีชาวจีนในฐานะผู้สร้างความเดือดร้อน[9] แต่ถูกทางการปราบปรามเสียก่อนโดยที่พระยาปราบสงครามหลบหนีไปได้จึงรวมกำลังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหลังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงตุง สามารถยึดเมืองฝางได้ อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ถูกทางการปราบปรามจนสำเร็จ[10]

สาเหตุของกบฏพระยาปราบสงครามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการ    ปกครองและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงพยายามต่อต้านการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองตลอดมา และในเหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงคราม เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ก็มีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง[11]

ในการตีความเท่าที่ผ่านมาต่างก็ยอมรับว่าเจ้านายในเมืองเชียงใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏด้วย[12] แต่ไม่มีผู้ใดพิจารณาต่อไปว่าการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรนั้น ได้กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย    ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ ก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครองเป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บ     รวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ข้าราชการท้องถิ่นจึงสูญเสียผลประโยชน์ และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็น    ข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น เช่น พระยาปราบสงคราม แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ เป็นต้น[13]

สำหรับสาเหตุที่ผลักดันให้พระยาปราบสงครามก่อการกบฏผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นผลโดยตรงจากการสูญเสียผลประโยชน์ด้านการจัดเก็บภาษีด้านแม่ปิงฝั่งตะวันออก นอกจากนั้นยังมีสาเหตุประกอบการตัดสินใจของพระยาปราบสงครามอีกด้วย ได้แก่ การได้รับความสนับสนุนจากเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ และไม่พอใจการทำทารุณต่อราษฎรในความปกครอง ซึ่งพระยาปราบสงครามตาม     คำบอกเล่าเป็นคนดีรักความยุติธรรม

หลังจากเกิดกบฏพระยาปราบสงคราม อำนาจของรัฐบาลกลางเริ่มลดลงตามลำดับจนมีลักษณะคล้ายระบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกกระทบกระเทือนใจของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ดำเนินการปฏิรูป ในช่วงหลังกบฏพระยาปราบสงคราม (.. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๕) จึงไม่มีการแก้ไขปัญหาทันที

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลลาวเฉียง (.. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒)

ความจำเป็นต้องปรับปรุงการปกครองมณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพในเวลาต่อมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลไทยต้องยอมยกหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งมีปัญหาวุ่นวายเสมอมาให้แก่รัฐบาลอังกฤษในปี พ.. ๒๔๓๕ และในปี พ.. ๒๔๓๖ ไทยก็เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศสในวิกฤตกาล ร.. ๑๑๒ ทำให้เขตแดนด้านตะวันออกของมณฑลลาวเฉียงต้องเผชิญกับการรุกรานของฝรั่งเศสตลอดมา ในที่สุดไทยต้องเสียหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งขึ้นกับเมืองน่านแก่ฝรั่งเศสใน พ.. ๒๔๔๖



[1] รายละเอียดเรื่องพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) ดู สรัสวดี อ๋องสกุล, “กบฏพระยาปราบสงคราม แม่ทัพเมืองเชียงใหม่ พ.. ๒๔๓๒๑๔ หน้า (อัดสำเนา)

[2] ชูสิทธิ์ ชูชาติ, “กบฏพญาผาบ (ปราบสงคราม) : กบฏชาวนาในภาคเหนือ”, วารสารสังคมศาสตร์, (ตุลาคม ๒๕๒๒ - มีนาคม ๒๕๒๓) : ๒๔ - ๓๔ ชูสิทธิ์เน้นปัญหาเศรษฐกิจและพยายามชี้ว่าพญาผาบ (ปราบสงคราม) เป็น  ชาวนาธรรมดาไม่มีตำแหน่งทางราชการเลยและวัลลภ รุ่งศิริแสงรัตน์, “กบฏไทยเขินเมืองเชียงใหม่ ปี พ.. ๒๔๓๒”, แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ๑ (มกราคม มิถุนายน ๒๕๒๓) : ๖๗ - ๖๘ วัลลภา ตีความในแนวทางปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ โดยเน้นว่าอังกฤษมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการช่วยเหลือพระยาปราบสงครามของเจ้าเมืองเชียงตุง และอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลทางการเมืองในลานนา

[3] ในปัจจุบัน ๓ แขวงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอสันทราย อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง จากการสำรวจมีบริเวณกว้างขวางเทียบได้กับอำเภอหนึ่ง

[4] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕  ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[5] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยาพลเทพกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕  ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[6] สัมภาษณ์ลุงหนาน นันตา อายุ ๕๑ ปี บ้านสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๓

[7] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

[8] แต่เดิมเข้าใจว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีประเภทนี้มาก่อน และราษฎรไม่เคยเสียภาษีอากรมากมายถึงเพียงนี้ ดู หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑ เจ้าพระยามหาพลเทพฯ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๒๐ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[9] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

[10] หจช. . ๕ ต. ๔๐/๓ รายงานหลวงประชาคดีกิจกราบทูลพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ เรื่องปราบกบฏพระยาปราบสงคราม ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[11] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๑๐๓ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ที่ ๑๘/๑๑๙ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ร.. ๑๐๘

[12] ดู ชูสิทธิ์ ชูชาติ, เรื่องเดียวกัน และวัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน

[13] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๙๘ พระยามหาเทพกราบเรียน พณฯ สมุหนายก ที่ ๒๓/๑๐๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ร.. ๑๐๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links