Our links

วันอังคารที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (.. ๒๔๔๒ - ๒๔๗๖)

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเริ่มจากหัวเมืองชั้นในก่อน แล้วขยายไปยังหัวเมืองประเทศ-ราชเริ่มตั้งแต่ พ.. ๒๔๓๗ จนถึง พ.. ๒๔๔๙ จึงทั่วพระราชอาณาจักร มณฑลพายัพจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล พ.. ๒๔๔๒ อย่างไรก็ตามดินแดนส่วนนี้ได้รับการปฏิรูปมาตั้งแต่ก่อนหน้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒) การจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชลานนาไทย มาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง

รูปแบบของมณฑลเทศาภิบาลได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการปกครองแบบเดิม โดยกำหนดให้แต่ละเมืองมีคณะกรรมการบริหารเรียกว่าเค้าสนามหลวง ประกอบด้วยข้าหลวงประจำเมือง เจ้าเมือง และข้าหลวงผู้ช่วย ซึ่งตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ คือ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (...ประยูร อิศรศักดิ์) เจ้าอุปราช (เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์) รั้งตำแหน่งเจ้าเมือง และขุนรัฐกิจข้าหลวงผู้ช่วย ด้านอำนาจหน้าที่เป็นของข้าหลวงประจำเมือง โดยเจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครอง      บ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติในนามเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าอุปราชซึ่งรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่พอใจการเข้าควบคุมของรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ข้าหลวงเทศาภิบาลลดอำนาจของข้าหลวงประจำเมืองลง และขอมีอำนาจกลับคืนดังเดิม[1] แต่ไม่ได้ผล

นอกจากจัดตั้งเค้าสนามหลวงเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดแล้ว ยังคงรูปแบบเสนา ๖ ตำแหน่งไว้ตามเดิม แม้ว่าจะไม่เหมาะสมกับกาลสมัยนักก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้เจ้านายบุตรหลานซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาต่างๆ ไม่พอใจการดำเนินงานของรัฐบาล และรัฐบาลใช้วิธีค่อยๆ เลิกเสนา ๖ ตำแหน่งไป โดยจัดข้าราชการจากส่วนกลางเข้าดำรงตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ แทน เช่น ปลัดเมือง ยกกระบัตร จ่าเมือง และสัสดี เป็นต้น

ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรัฐบาลเข้าควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป วิธีการนี้ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ ๑๐ เท่า เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเจ้านายเมืองเหนือ และรัฐบาลก็ได้จัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองออกเป็นเงินเดือน เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้ และเงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ รวมแล้วปีหนึ่งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จะมีรายได้ไม่น้อยนักคือ ประมาณ ๒๔๐,๒๗๗ บาท[2] แต่รายได้นี้ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้และเงินแทนเกณฑ์ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอน และในปี พ.. ๒๔๕๑ ได้ขอรับพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท[3] อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่จัดสรรรายได้ดังกล่าว เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ไม่พอใจนักแต่ก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ส่วนราษฎรก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากการปฏิรูประบบการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเก็บเงินแทนเกณฑ์จากชายฉกรรจ์จำนวน ๔ บาทต่อปี ซึ่งมักจะเสียเงินแล้วยังถูกเกณฑ์แรงงานเสมอ โดยทางการไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งตามปกติกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนในอัตราวันละ ๒ สลึง ราษฎรจึงเดือดร้อนและไม่พอใจข้าราชการจากส่วนกลางที่กวดขันเกณฑ์แรงงานสร้างถนนและสะพานทั้งในเมืองและนอกเมือง

หลังจากจัดการปกครองแบบเทศาภิบาลผ่านไป ๓ ปี ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา เนื่องจากความไม่พอใจของราษฎรและเจ้านายเมืองเหนือผู้เสียอำนาจและผลประโยชน์และปัญหาการขาดแคลนข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะตำแหน่งนายแขวง (นายอำเภอ) ซึ่งรัฐบาลกำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการจากส่วนกลางนั้นมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นแต่ละแขวงที่จัดตั้งขึ้นจึงมีพื้นที่กว้างขวางมาก ทั้งการคมนาคมก็ยากลำบากนายแขวงจึงดูแลไม่ทั่วถึง ซ้ำนายแขวงส่วนหนึ่งไม่เข้าถึงประชาชน ดูหมิ่นชาวพื้นเมืองและใช้อำนาจกดขี่เกณฑ์แรงงานจนเกินไป ปัญหาเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามเมืองต่างๆ ในมณฑลพายัพ แต่ที่ลุกลามเป็นการต่อต้านครั้งใหญ่เกิดที่เมืองแพร่ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.. ๒๔๔๕ พวกกบฏเป็นกองโจรเงี้ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นพวกกบฏ    ยึดเมืองสำเร็จ เงี้ยวชาวเมืองและราษฎรได้ร่วมมือกับโจรเงี้ยวเข่นฆ่าข้าราชการจากส่วนกลางถึง ๒๐ กว่าคน



[1] หจช. . ๕ ม. ๕๘/๔๒ พระยาศรีสหเทพกราบทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ที่ ๕๘๓/๘๒๒๔ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ร.. ๑๑๘

[2] หจช. . ๕ ม. ๒๘./๔ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ที่ ๘๘/๘๑๘๒ ลงวันที่ ….. กุมภาพันธ์ ร.. ๑๒๗

[3] เรื่องเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links