Our links

วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

พะเยา (ต่อ)

โดยสรุป ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณแม่น้ำต่างๆ คือ แม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำอิง ฯลฯ มีชุมชนตั้งอยู่แล้วก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้   ดินแดนบริเวณนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน และเมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว สันนิษฐานว่าจะมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดและรับเอาวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่และเจริญรุ่งเรืองแล้วมาเป็นของตนเอง เป็นต้นว่าล้านนาไทยเชียงใหม่อาจจะรับเอากฎหมายธรรมสัตถของมอญซึ่งใช้อยู่ในหริภุญไชยมาตราเป็นกฎหมายมังรายศาสตร์ และรับเอาอักษรมอญมาดัดแปลงเป็นอักษรพื้นเมืองล้านนาหรืออักษรไทย นอกจากนี้อาจจะรับเอาพุทธศาสนาของแคว้นหริภุญไชยมาด้วย เพราะหริภุญไชยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามาจนถึงอย่างน้อยสมัยพระเจ้า       กือนา[1] กษัตริย์ราชวงศ์มังรายปกครองเชียงใหม่เป็นลำดับที่ ๖ (.. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) พระยากือนาจึงได้พยายามสร้างให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา

อนึ่ง สันนิษฐานว่า ก่อนที่พระยามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ดินแดนบริเวณนี้คงจะเป็นที่อยู่ของพวกละว้าหรือลัวะ (Lawa, Sua) กล๋อมหรือขอมดำ พวกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าจะอยู่นานแล้วก่อนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ได้เล่าว่า ขุนหลวงวิลังคะเป็นกษัตริย์ลัวะปกครองบ้านเมืองอยู่บริเวณดอยสุเทพ และเป็นผู้ที่ประสงค์จะได้พระนางจามเทวีเป็นพระมเหสีของตน[2]

หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับลัวะพบทั่วไปในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ได้พบเนินดินหรือกู่เก่าๆ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน[3] และปัจจุบันพวกลัวะก็ยังอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอแม่สะเลียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอจอมทองและอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อปี พ.. ๒๕๑๒ อาจารย์ถิ่น รัติกนก และคณะ ได้ทำการศึกษา วิจัยด้านประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของละว้า ที่บ้านบ่อหลวง บ้านกองลอย บ้านอุมลอง บ้านแ่โถ บ้านวังกอง บ้านขุน และบ้านนาฟ่อน รวม ๗ หมู่บ้าน อำเภอฮอด เชียงใหม่ ซึ่งประชาชนเป็น ชาติลัวะ และพวกลัวะนอกจากจะอาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวแล้ว ยังมีชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ที่เวียงหนองสอง อำเภอป่าซาง ลำพูน และที่บ้านแม่เหียะ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ผลของการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมประเพณีของลัวะหลายประการท่อาจจะตกทอดมาถึงคนในเชียงใหม่เพราะมีประเพณีคล้ายกับประเพณีเชียงใหม่ปัจจุบัน คือ ประเพณีการเกิดมี แม่ฮับหรือหมอตำแย ประเพณีการอยู่ไฟหลังการคลอดบุตรเรียกว่า อยู่เดือนความเชื่อเรื่องผีบ้าน ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ประเพณีการบูชาเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านที่เสามงคลหรือเสาเอก หลังคาบ้านนิยมทำไม้ไขว้เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า กาแลและประเพณีทำศพที่มีการจุดไฟยามหน้าศพ ตุงสามหางและตุงห่อข้าวใช้ในกระบวนแห่ศพไปฌาปนกิจ[4] ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของลัวะที่พบในประเพณีของเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ดังนั้น สันนิษฐานว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่โดยพระยามังราย พ.. ๑๘๓๙ นั้น บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ มีเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเมือง เป็นต้นว่า หริภุญไชย พะเยา เชียงแสน มี    วัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และได้มีการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ด้วย


[1] Danold Swearer, Ibid, P 86.

[2] ดูรายละเอียดใน จามเทวีวงศ์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์

[3] พระยาอนุมานราชธน, เรื่องของชาติไทย (พระนคร : คุรุสภา ๒๕๑๔) หน้า ๒๑๘

[4] ถิ่น รัติกนก และคณะรายงานการวิจัยเรื่อง ลัวะ (ละว้า) บ่อหลวง (People who inhabited in the Meping-Valley Prior to the settlement of the Thais) ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มิถุนายน ๒๕๑๒ (อัดสำเนา) และโปรดดูรายละเอียดใน J.J.Boeles, “A Note on the Ancient City called Lawapura” J.S.S. v. is Part I, January 1967 P. 113 และ G.coedes, “Les Peuple de la Peninsule Indochinoise” J.S.S. v. 15 Jan. 1967. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links