Our links

วันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

เชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย

เชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย

เมื่อพ่อขุนมังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ทรงปกครองและประทับอยู่เมืองนี้ตลอด    พระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และอาจจะกล่าวว่าพระองค์เป็นนักพัฒนาก็ได้ ด้วยทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านเมืองหลายเมือง ด้านการปกครองในสมัยนี้สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงปกครองเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนเมืองอื่นเช่นเมืองเชียงราย เมืองหริภุญไชยนั้น คงแต่งตั้งให้ราชโอรสหรือข้าราชการขุนนางที่มีความสามารถไปปกครองแทน เช่น เมืองเชียงรายได้ให้ราชโอรสขุนครามไปปกครอง เมืองหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าอามาตย์เอกไปครอง[1] ส่วนด้านการตุลาการหรือการพิจารณาคดีนั้น สันนิษฐานว่าพ่อขุนมังรายจะทรงรวบรวมกฎหมายขึ้นใช้ปกครองที่เรียกว่า มังรายศาสตร์[2] ซึ่งสันนิษฐานว่ามังรายศาสตร์นี้อาจจะได้รับ    อิทธิพลมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญจากหริภุญไชยก็อาจเป็นได้ และกฎหมายนี้คงได้ใช้    ปกครองบ้านเมืองสืบมา[3]

ด้านการส่งเสริมอาชีพประชาชน พ่อขุนมังรายได้ส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพหลายอาชีพ นอกเหนือจากการเกษตรกรรม ได้พบข้อความในตำนานต่างๆ กล่าวว่าพระองค์ได้นำช่างฝีมือประเภทต่างๆ เช่น ช่างทอง ช่างต้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ฯลฯ มาจากเมืองพุกามเมื่อคราวเสด็จไปเมืองพุกาม ระบุว่า

“ … ดังเจ้าอังวะพุกามนั้นก็เสงปองโฟ่จากันแล คันแสงปองกันแล้ว ยังช่างหล่อ ช่างตี ช่างฆ้อง ผู้ทรงสราด (ฉลาด) ทั้งหลายมาก็เลือกเอาผู้อันช่างหล่อ ช่างตีทั้งหลาย ช่างตีฆ้อง ๒ หัว ทังลูกสิถ (ศิษย์) ลูกน้องทังมวล ๕๐๐ ทังเครื่องพร้อมแล้ว จักยื่นถวายท้าวล้านนา …”[4]

ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้านนั้น เชียงใหม่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยาตลอดจนอาณาจักรพุกาม ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการรับเอาวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยเชียงใหม่กับอาณาจักรใกล้เคียง เช่น ในเวลาต่อมาเชียงใหม่รับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานจากสุโขทัย เป็นต้น พ่อขุนมังรายสิ้นพระชนม์ราว พ.. ๑๘๕๔

เมื่อสิ้นสมัยพ่อขุนมังรายแล้ว เชียงใหม่ได้ปกครองโดยราชโอรสเชื้อสายราชวงศ์มังรายอีกหลายพระองค์ คือ พระยาคราม (.. ๑๘๕๕ - ๑๘๕๕) พระยาแสนภู (.. ๑๘๕๕ - ๑๘๘๗) พระยาน้ำท่วม (.. ๑๘๖๕ - ๑๘๖๖) พระยาคำฟู (.. ๑๘๖๖ - ๑๘๖๙) และ (.. ๑๘๗๘-๑๘๗๙) และ พระยาผายู (.. ๑๘๘๐ - ๑๘๙๙) ในช่วงระยะเวลาที่พระยาดังกล่าวปกครองบ้านเมืองนั้น บ้านเมืองอยู่ในระยะก่อร่างสร้างเมืองให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของกษัตริย์เชียงใหม่เฉพาะพระองค์ที่สำคัญเท่านั้น หลังจากสมัยพระยาผายูแล้วกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระยากือนา ครองราชย์ระหว่าง พ.. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘

พระยากือนา ทรงเป็นราชโอรสของพระยาผายูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๖ ของราชวงศ์มังราย ในรัชสมัยของพระองค์นั้น พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาแพร่หลายและประดิษฐานในล้านนาไทย กล่าวคือ ในราว พ.. ๑๙๑๒ พระยากือนาได้อาราธนาพระสงฆ์จากอาณาจักรสุโขทัย สุมนเถระนำเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ประดิษฐานในล้านนาไทยและเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้ ในสมัยโบราณก่อนที่รับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง สันนิษฐานว่าล้านนาไทยจะนับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนาไทยมีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ ผู้ตายซึ่งประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน เป็นต้น[5]

เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแพร่หลายในล้านนาแล้ว มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยกับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม ประเพณีและพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาไทยด้วย พระสงฆ์มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก เช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัย  พระยากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ [6] ร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนกษัตริย์ล้านนาไทยผู้ประพฤติไม่ถูกต้องอีกด้วย และเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม เป็นต้น นับว่าพระสงฆ์เริ่มมีบทบาทตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาเป็นต้นไป

เมื่อสิ้นสมัยพระยากือนาแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระยาแสนเมืองมา (.. ๑๙๒๙ - ๑๙๔๕) และต่อมาก็ถึงสมัย พระยาสามฝั่งแกน[7] ในรัชกาลของพระองค์ พ.. ๑๙๖๗ มีพระเถระชาวเชียงใหม่ ๒๕ องค์ พระชาวลพบุรี ๘ องค์ พระรามัญ ๑ องค์ ได้ไปศึกษาภาษาบาลีและพุทธศาสนาในลังกา เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระพุทธศาสนา ๓ คณะ คือ ๑. คณะพื้นเมือง ๒. คณะรามัญ ๓. คณะสีหล (.. ๑๙๔๕ - ๑๙๘๕) กษัตริย์ต่อมาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญพระองค์หนึ่งของล้านนาไทย คือ พระยาติโลกราช ครองราชย์ระหว่าง พ.. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐



[1] พระรัตนปัญญาเถระ, ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลจากต้นฉบับภาษาบาลี โดย แสง มนวิฑูร (พระนครมิตรนราการพิมพ์ ๒๕๑๐) ๑๐๕.

[2] มังรายศาสตร์ ปัจจุบันค้นพบมี ๕ ฉบับ คือ ๑. มังรายศาสตร์ฉบับวัดเสาไห้ อ.เมือง ลพบุรี ๒. มังรายศาสตร์ฉบับคัดลอกโดยกงศุลฝรั่งเศสประจำเชียงใหม่ (นอตอง)* . มังรายศาสตร์ฉบับวัดเชียงหมั้น อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทั้งสามฉบับปริวรรตโดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ๔. มังรายศาสตร์ฉบับวัดหมื่นเงินกอง ปริวรรตและพิมพ์เผยแพร่ โดยภาควิชาคณะมานุษยวิทยา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ ๕ มังรายศาสตร์ ฉบับวัดไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่

[3] ศาตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มังรายศาสตร์ฉบับเสาไห้ พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงโหตร  กิตานุพันธ์ ๔ เมษายน ๒๕๑๔ โรงพิมพ์เลียงเซี้ยงเจริญ ๒๕๑๔, หน้าคำนำ

[4] ราชวงศ์เมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงหมั้น พิมพ์เผยแพร่โดย ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๘, หน้า ๘.

[5] แสง มนวิทูร, “ความเป็นมาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในล้านนาไทยจุลสารโครงการตำรา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, (๓ กรกฎาคม  - กันยายน ๒๕๑๙), หน้า ๘๔ - ๘๖. พิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่

[6] มณี พยอมยงค์, (ปริวรรต) คลองพิจารณาแต่งถ้อยชนคำ ฉบับวัดผาบ่องและวัดล้อมแรด เอกสารงานวิจัยโครงการไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๘ เอกสารฉบับนี้ เรียกพระสงฆ์ผู้เข้าพิจารณาตัดสินคดีว่า เจ้าไทยลงกว้าน กว้านหมายถึงศาล

[7] พระเจ้าสามฝั่งแกน ตามตำนานกล่าวว่าประสูติ ณ เมืองแกน ปัจจุบันสันนิษฐานว่าอยู่ที่ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จ.เชียงใหม่ บริเวณเมืองเก่านี้มีแม่น้ำ ๓ สาย ได้แก่ ๑. แม่น้ำแกน (สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากคำว่า กั่งแก๊น ซึ่งตำนานเมืองแกนกล่าวว่า เป็นอาการคับแค้นใจของประชาชนในเมืองแกนที่ถูกศัตรูรุกราน แล้วกวาดต้อนผู้คนไปทำให้พลัดพรากกัน หรืออาจจะมาจากคำว่า แก๋น แปลว่า กลาง ผู้เขียน) . แม่น้ำปิง และ ๓. แม่น้ำสงัด หรืองัด บริเวณเมืองที่เรียกว่า ทุ่งพันแอกพันเผือเมืองแกน อุดมสมบูรณ์มาก กรรมการศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้ทำการวิจัยเรื่องนี้แล้ว พระเจ้าสามฝั่งแกนอาจจะมาจากแม่น้ำสามฝั่งแกนหรือพันนาแกน (โปรดดูรายละเอียดใน รายงานการสำรวจพื้นฐานทุ่งพันแอกพันเผือเมืองแกน ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ เอกสารลำดับ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links