Our links

วันพุธที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

บทสรุป

วิธีการปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชดังกล่าว นับว่าเหมาะสมกับ   สภาวการณ์ในสมัยนั้น ซึ่งรัฐบาลกลางมีกำลังน้อยควบคุมไม่ถึง การคมนาคมไม่สะดวก และไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับก็เพียงพออยู่แล้ว ในส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองตามขนบธรรมเนียมของตน อย่างไรก็ตามเมื่อตะวันตกเข้ามาสภาพการปกครองหัวเมืองประเทศราชดังกล่าว ได้กลายเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมมากขึ้นตามลำดับ การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่จึงเกิดขึ้นใน พ.. ๒๔๒๗ ซึ่งพร้อมกับเมืองลำปางและลำพูน รวมเรียกว่าหัวเมืองลาวเฉียง นับเป็นดินแดนแห่งแรกในพระราชอาณาจักรที่รัฐบาลกลางต้องเร่งดำเนินการด้วยมีปัญหาเกี่ยวพันกับคนในบังคับอังกฤษ

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป ลักษณะการดำเนินงานเป็นการผนวกดินแดนหัวเมืองประเทศราชเชียงใหม่และล้านนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรที่ใช้เวลายาวนานถึง ๔๙ ปี (.. ๒๔๒๗ - ๒๔๗๖) โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา และอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลไม่ยกเลิกในทันทียังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ของเจ้าเมืองเชียงใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นว่าในช่วงแรกที่รัฐบาลกลางส่งข้าหลวงสามหัวเมืองขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่เมืองเชียงใหม่ พ.. ๒๔๑๗ - ๒๔๒๖ ยังไม่ได้ควบคุมเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยตรง เพียงแต่ส่งข้าหลวงขึ้นไปแนะนำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสนธิสัญญาเชียงใหม่และตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น ครั้นต่อมาในช่วง พ.. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒ รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปการปกครองซึ่งเริ่มเข้าควบคุมอำนาจและผลประโยชน์บางอย่างและเป็นการวางรากฐานก่อนการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เพราะเมื่อจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.. ๒๔๔๒ เป็นเวลาที่รัฐบาลสามารถดำเนินการขั้นตอนยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช พร้อมกับเข้าควบคุมอำนาจทางการปกครองและผลประโยชน์จากเจ้าเมืองเหนือได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะหลังกบฏเงี้ยว พ.. ๒๔๔๕

ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ (ปี พ.ศ ๒๔๕๑) เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (.. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๒) ขอรับผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำจึงเริ่มมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าเมืองเหนือที่เหลืออยู่ก็ขอรับพระราชทานเงินเดือนเช่นเดียวกันหมด ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงดำเนินการในขั้นต่อมาคือ ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยกำหนดว่าหากเจ้าเมืององค์ใดถึงแก่พิราลัยแล้วจะไม่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งอีก เท่ากับยกเลิกตำแหน่งไปโดยปริยาย สัญลักษณ์ของเมืองประเทศราชจึงค่อยสลายตัวลง ครั้นเมื่อคณะราษฎรยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.. ๒๔๗๖ มณฑลพายัพจึงถูกยุบ แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงในช่วงการปฏิรูปการ  ปกครองคงเป็นรากฐานสืบมาถึงปัจจุบัน[i]



[i] ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่.เชียงใหม่.ทิพย์เนตรการพิมพ์, ๒๕๒๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links