Our links

วันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของไทย 2

วิธีการดำเนินงานเพื่อให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลกลางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กระทำการช่วยเหลือเชียงใหม่หลายรูปแบบ

ประการแรก การช่วยเหลือด้านอาวุธเพื่อใช้ในราชการสงครามนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือเสมอมา ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๑ ปี พ.. ๒๓๔๕ เมื่อทรงมีพระราชดำริให้เมืองเชียงใหม่และลำปางยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายพม่า ทรงพระราชทานอาวุธปืนและกระสุนจำนวนหนึ่ง[1] และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.. ๒๔๐๐ เมืองเชียงใหม่ขอพระราชทานปืนหามแล่น ๑๐๐ กระบอก[2]

ประการที่สอง การส่งกองทัพหลวงช่วยเหลือป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในระยะที่เพิ่งจะตั้งเมืองในสมัยพระยากาวิละในปี พ.. ๒๓๔๐ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยากาวิละไม่สามารถป้องกันเมืองเชียงใหม่ตามลำพัง เนื่องจากกำลังคนมีไม่เพียงพอจึงขอทัพหลวงมาช่วย ซึ่งรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพไปช่วย ได้ร่วมกันสู้รบจนพม่าพ่ายไป[3] และในสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนใน พ.. ๒๓๔๗ กองทัพหลวงก็ขึ้นไปช่วยกองทัพเชียงใหม่ด้วย

ประการที่สาม การคืนครัวเรือนที่เชียงใหม่กวาดต้อนมาได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมือง ดังเช่น พระยากาวิละยกทัพไปตีเมืองสาด เมืองปัน เมืองปุ แล้วกวาดครัวมาถวายรัชกาลที่ ๑ ๆ ทรงพระราชทานคืนครัวเรือนที่กวาดต้อนมาได้คืนเชียงใหม่ไป อีกทั้งยัง         พระราชทานเงินและเสื้อผ้าเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่นายทหารในครั้งนั้นด้วย[4] การคืนครัวนี้สืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระราชทานกลับคืนไปเช่นกัน[5]

ประการที่สี่ การตั้งเมืองลำพูนและเชียงรายเพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ เมื่อมีราชการสงครามเกิดขึ้น โดยตั้งเมืองลำพูนสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.. ๒๓๕๗ ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว ส่วนเมืองเชียงรายจัดตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.. ๒๓๘๖ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนขอพระราชทานตั้งเมืองขึ้นใหม่[6] อาจกล่าวได้ว่าเมืองลำพูนและเชียงราย ตลอดจนลำปางในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่เพราะทรงถือว่าเมืองเชียงใหม่มีเจ้าเมืองเป็นญาติผู้ใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ซึ่งสืบสายตระกูลเจ้าเจ็ดตนเช่นเดียวกัน จึงให้สิทธิ์แก่เจ้าเมืองเชียงใหม่ เช่น สามารถว่ากล่าว ตักเตือน และลงโทษเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานเมืองอื่นๆ ได้[7] และยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและอุปราชเมืองลำพูน[8]

อนึ่ง สารตราสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จะเน้นเสมอถึงการให้ทั้งสามเมืองช่วยกันปกครองบ้านเมืองและป้องกันภัยจากพม่า

จากความพยายามสนับสนุนให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็งได้ประสบความสำเร็จในปลาย   รัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สามารถขับไล่พม่าจากฐานที่มั่นในเมืองเชียงแสนในปี พ.. ๒๓๔๗ และหลังจากสงครามครั้งนั้นพม่าไม่ได้ยกทัพมาโจมตีหัวเมืองล้านนาไทยเป็นกองทัพใหญ่อีก จะมีแต่กองทัพจากเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยร่วมกันยกไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งในปี พ.. ๒๓๔๘ ก็สามารถขยายอาณาเขตไปถึงเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองลื้อ สิบสองปันนา อาณาเขตของล้านนาไทยจึงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง[9]


[1] หวญ. . ๑ จ.. ๑๑๖๔ เลขที่ ๑ ร่างพระบรมราชโองการตั้งเจ้าพระยาเชียงใหม่ จ.. ๑๑๖๔

[2] หวญ. . ๔ จ.. ๑๒๑๙ เลขที่ ๒๖ ศุภอักษรเมืองเชียงใหม่ จ.. ๑๒๑๙

[3] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.

[4] หวญ. . ๑ จ.. ๑๑๖๔ เลขที่ ๑ ร่างพระบรมราชโองการตั้งเจ้าพระยาเชียงใหม่ จ.. ๑๑๖๔

[5] ปริศนา ศิรินาม, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๒๖.

[6] ในครั้งนั้นตั้ง ๓ เมืองพร้อมกัน คือ เชียงราย พะเยา และงาว โดยให้พะเยากับงาวขึ้นต่อเมืองลำปาง ดู หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๕ เลขที่ ๒๑ บัญชีเครื่องยศหัวเมืองต่างๆ

[7] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๙ เลขที่ ๓๐ เรื่องพระยานครลำปางกับพระยาฤทธิภิญโญยศประพฤติการชั่วร้าย

[8] หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๐๔ เลขที่ ๑๕ สำเนาใบบอกเมืองเชียงใหม่ และ หวญ. . ๓ จ.. ๑๒๑๐ ที่ ๑๖ ร่างสารตราถึงพระยาลำพูน เรื่องตั้งพระยาราชวงศ์เป็นที่พระยาอุปราชเมืองลำพูน

[9] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑, หน้า ๒๗๗.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links