การปกครองภายในเมืองเชียงใหม่ก่อนการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ
ในสมัยพระยากาวิละได้นำระบบการปกครองบางอย่างของไทยไปปรับปรุงใช้ที่เชียงใหม่ เช่น การแต่งตั้งพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน และพระยาเด็กชาย ให้อยู่ในตำแหน่งปฐมอัครมหาเสนาบดี ทั้ง ๔ ทำหน้าที่เหมือนจตุสดมภ์ของไทย คือเป็น เวียง วัง คลัง นา ตามลำดับ โดยถือว่าตำแหน่งดังกล่าวสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า “ … มีพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน พระยาเด็กชาย[1] เป็นใหญ่แก่ท้าวพระยาทั้งหลาย …”[2] และการตั้งตำแหน่งวังหน้าและวังหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งพระยากาวิละแต่งตั้งให้พระยาอุปราชดำรงตำแหน่ง วังหน้า พระยาบุรีรัตน์ดำรงตำแหน่งวังหลังเป็นครั้งแรก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของไทยในด้านความคิดและแบบอย่างทางการปกครองที่มีต่อเมืองเชียงใหม่
โครงสร้างทางการปกครองของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเจ้าขัน ๕ ใบ ได้แก่ เจ้าเมือง และผู้ช่วยเหลือในการปกครองอีก ๔ ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชบุตร พระยาราชวงศ์ และพระยาบุรีรัตน์ ในทางทฤษฎีตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบนี้ จะได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนจากกรุงเทพฯ แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายชั้นสูงในเชียงใหม่จะเสนอชื่อผู้เห็นสมควรจะได้รับตำแหน่งนี้ขึ้นมา โดยทางรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จะแต่งตั้งตามที่เสนอมา นับว่าการเมืองภายในเชียงใหม่มีอิสระอยู่มาก
ส่วนหน้าที่ของตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ในระยะแรกซึ่งอยู่ในช่วงสงครามระหว่างไทยกับพม่า จึงเข้าใจว่าหน้าที่หลักคือการควบคุมกำลังรบ แต่ในระยะต่อมาเมื่อราชการสงครามเบาบางลง หน้าที่ของเจ้าขัน ๕ ใบ จึงเปลี่ยนแปลงไปดังมีผู้สันนิษฐานว่า ตำแหน่งอุปราชทำหน้าที่การคลัง เจ้าราชบุตรและเจ้าราชวงศ์มีหน้าที่เกี่ยวกับทหาร และเจ้าบุรีรัตน์เป็นผู้จัดการปกครองภายในเมือง[3] โดยมี เจ้าเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดควบคุมกิจการทั่วไป
ตำแหน่งผู้ช่วยราชการของเจ้าเมืองนี้ ในสมัยต่อมาเมื่อราชการขยายออกไปและเจ้านายบุตรหลานก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงทำการแต่งตั้งเพิ่มเติมอีกหลายตำแหน่งและหลายครั้งเป็นลำดับดังนี้คือ เดิมนั้นมีเพียงเจ้าขัน 5 ใบ ครั้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ ๒๓๙๙ - ๒๔๑๒) รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้าราชภาคินัย พระยาอุตรการโกศล พระยาไชยสงคราม ในสมัยต่อมาเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙) รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเพิ่มอีก ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าราชสัมพันธ์สงศ์ และเจ้าสุริยวงศ์ ราว พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรง โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๒ ตำแหน่ง คือ เจ้าทักษิณนิเกตน์ และเจ้านิเวศอุดร ครั้น พ.ศ.๒๔๔๑ หลังจากตราพระราชบัญญัติศักดินาเจ้านายแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าประพันธ์พงษ์ เจ้าวรญาติ เจ้าราชญาติ และเจ้าไชยวรเชษฐ[4]
[1] ตำแหน่งทั้ง ๔ นี้ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาไทย แต่ไม่ปรากฏชัดว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง ทราบเพียงว่าเป็นข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น และตามตำนานต่างๆ ไม่เคยกล่าวถึงตำแหน่งทั้ง ๔ พร้อมกันเลย
[2] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๙ - ๑๑๑
[3] Nigel J, Brailey. The Origins of the Siamese Forward Movement in Western Laos 1850 - 1892. (Unpublished Ph. D. Thesis London University, 1968) p.37.
[4] ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง, เพ็ชร์ลานนา เล่ม ๑ หน้า ๙๗ - ๙๘
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น