สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำล้านนาไทยทำการฟื้นม่านและตัดสินใจเลือกข้างฝ่ายไทยนั้น ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏเข้าใจว่าเป็นผลมาจากการปกครองของโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ที่ใช้นโยบาย แข็งกร้าวกระทำการกดขี่ข่มเหงชาวล้านนาไทยมากยิ่งกว่าโป่อภัยคามิณีเจ้าเมืองคนก่อนซึ่งปรากฏในหลักฐานพื้นเมืองว่า
“ในกาลหว่างนั้น อาชญามารก็แฮงกล้าแข็งฮ้อนไหม้ หาที่จักไว้อก วางใจก็บ่ได้ เก็บเงินคำใส่ฑัณฑ์กรรมผูกมัดฮักมุบแขนขา เอาแม่ฮ้าง นางสาว ส่งหาบนาบคาว ยามโป่หัวหงอก มาเป็นมยุโหงวร นั่งแต่งอยู่เมืองพิงซ้ำฮ้ายนักบางปีก็บ่มีสักเตื่อแล”[1]
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “โป่หัวขาวกระทำร้อนไหม้แก่บ้านเมืองแล”[2]
นอกจากนั้นหลักฐานทางฝ่ายพม่าคือพงศาวดารฉบับหอแก้ว[3] กล่าวถึงโป่มะยุง่วน (โป่ หัวขาว) กระทำการริดรอนอำนาจของพระยาจ่าบ้าน พระยาสามล้าน พระยาแสนหลวงแห่งเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ซึ่งผู้ปกครองพื้นเมืองดังกล่าวเคยคุมไพร่พลไปช่วย ราชการศึกจีนที่กรุงอังวะ[4] มีความดีความชอบกษัตริย์พม่าให้อำนาจปกครองตามเดิม ความบาดหมางระหว่างพระยาจ่าบ้านกับโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ทำให้มีการปะทะกันที่กลางเมืองเชียงใหม่และพระยาจ่าบ้านชักชวนพระยากาวิละ “ฟื้นม่าน” ส่วนโป่มะยุง่วนใช้วิธีจับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละคุมขังไว้ และออกคำสั่งจับพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละส่งไปชำระโทษที่กรุงอังวะ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบีบคั้นให้พระยาทั้งสองเข้ามาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย
เมื่อพิจารณาการตัดสินใจเข้ากับฝ่ายไทยของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ล้านนาไทยที่สำคัญ จากฐานะเมืองขึ้นของพม่ามาเป็นประเทศราชของไทย โดยที่ก่อนหน้านั้นผู้นำชาวล้านนาไทยต่างยอมรับในอำนาจของพม่า เช่น พระยาสุลวะลือไชย (ทิพย์ช้าง) ในที่สุดต้องยอมรับอำนาจของกษัตริย์อังวะโดยส่งบรรณาการไปให้ ซึ่งความดีความชอบครั้งนั้น กษัตริย์อังวะได้พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า พระยาไชยสงคราม[5] เจ้าชายแก้ว[6]ได้รับความ ช่วยเหลือจากกษัตริย์อังวะโดยส่งกองทัพมาช่วยปราบท้าวลิ้นกาง บุตรพ่อเมืองคนเก่าที่แย่งชิงเมืองไป เมื่อการสู้รบยุติลงกษัตริย์อังวะแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นเจ้าเมืองลำปางในปี พ.ศ. ๒๓๐๗[7]
แผนการของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละที่จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทยนั้นเริ่มต้นโดยพระยาจ่าบ้านอาสากับโปสุพลาแม่ทัพพม่าที่อยู่เชียงใหม่ว่าจะเป็นกองหน้าล่องลงไปก่อนเพื่อเอาสวะและไม้ซุงออก ทัพเรือจะได้ยกไปตีกรุงธนบุรีสะดวก โปสุพลาเห็นชอบเกณฑ์ไพร่พลติดตามพระยา จ่าบ้านไป เมื่อสบโอกาสพระยาจ่าบ้านสังหารไพร่พลพม่าแล้วรีบไปหาเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑) แม่ทัพฝ่ายไทยที่กำแพงเพชร
ส่วนพระยากาวิละได้ออกอุบายให้เจ้าคำโสมแต่งกองทัพคุมกำลังพม่าส่วนใหญ่แสร้งยกทัพไปสกัดกองทัพไทยเพื่อไม่ให้พม่าระแวงสงสัย เมื่อได้โอกาสพระยากาวิละคุมไพร่พลสังหารทหารพม่าซึ่งอยู่รักษาการณ์ในเมืองลำปางล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งจักกายศิริจอสูแม่ทัพพม่าด้วย จากนั้นมอบให้เจ้าดวงทิพย์ล่วงหน้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วพระยากาวิละก็นำบรรณาการออกต้อนรับกองทัพหลวง และกองทัพพระยากาวิละได้ร่วมกับกองทัพหลวงเข้าตีเมืองเชียงใหม่สำเร็จ
เมื่อเสร็จสงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงตอบแทนความดีความชอบ โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละครองเมืองลำปาง พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งญาติพี่น้องของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เพื่อช่วยราชการบ้านเมืองทั้งสองด้วย[8] นับเป็นการวางรากฐานการปกครองหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยเป็นครั้งแรก และครั้งนี้พระเจ้าตากสินมหาราชทรงมอบ “อาญาสิทธิ์” แก่ เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองกันเองตามธรรมเนียมเดิมของล้านนาไทย
[1] ประชัน รักพงษ์, “ประวัติพ่อเจ้าทิพย์ช้าง (พระยาสุลวะลือไชย) ”, วารสารมนุษยศาสตร์วิทยาลัยครูลำปาง ๑(มีนาคม ๒๕๒๖) : ๔๗ - ๕๕ (อ้างจากหอวชิรญาณ (ต่อไป ย่อ หวญ.) เอกสารเลขที่ ๒๒ ก. ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์เชียงใหม่ ต้นฉบับเป็นใบลานจารเป็นอักษรและภาษาล้านนาไทย ปริวรรตโดยหอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๐๙)
[2] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๖
[3] .”Relationship With Burma …” J.S.S., Part II, 1959, p 75 - 78 และขจร สุขพานิช “อัจฉริยะของขุนหลวงตาก”. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์พิเศษ ขจร สุขพานิช (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ศรีอนันต์, ๒๕๒๑), หน้า ๑๒๗.
[4] ผู้ปกครองชาวเชียงใหม่เกณฑ์ไพร่ไปรั้งเมืองพม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ เพื่อป้องกันทัพฮ่อ ตั้งแต่เดือนอ้ายปีชวดจนถึงเดือน ๖ ปีฉลู แต่ทัพฮ่อก็ไม่มาจึงให้ไพร่กลับคืนเมือง การเกณฑ์ไพร่เป็นเวลานานนับปีนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนต่อไพร่โดยตรงแล้ว คงมีส่วนทำให้ผู้ปกครองชาวเชียงใหม่เห็นภาพความเป็นไปในกรุงอังวะ แต่จะมีส่วนผลักดันให้เกิดความคิดฟื้นม่านขึ้นมาหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน ดู พระยาประชากิจกรจักร์ พงศาวดารโยนก พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพมหานคร : คลังวิทยา, ๒๕๑๖), หน้า ๔๓๗.
[6] เจ้าชายแก้วบุตรของพระยาสุลวะลือไชยเป็นบิดาของพระยากาวิละ ซึ่งมีบุตรชายรวม ๗ คน เป็นที่มาของตระกูลเจ้าเจ็ดตน ประกอบด้วย ๑. เจ้ากาวิละ ๒. เจ้าคำโสม ๓. เจ้าน้อยธรรมลังกา ๔. เจ้าดวงทิพย์ ๕. เจ้าหมูล่า ๖. เจ้าคำ- ฝั้น ๗. เจ้าบุญมา
[7] ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๐๗ - ๒๓๑๖ ลำปางตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พระยากาวิละได้ช่วยกษัตริย์อังวะรบศึกฮ่อ และร่วมกับกองทัพพม่าตีเมืองเวียงจันทน์สำเร็จ ขณะที่มีอายุ ๒๗ ปี ภายหลังพระยากาวิละดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองลำปางต่อจากบิดาซึ่งชราภาพมากแล้ว ดูพระยาประชากิจกรจักร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๕ - ๔๔๓.
[8] “พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีและจดหมายเหตุรายวันทันสมัย กรุงธนบุรี” ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ หน้า ๖๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น