Our links

วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ประวัติศาสตร์การปกครองเมืองเชียงใหม่ 3

หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของไทยแล้ว พม่ายังพยายามยึดเชียงใหม่กลับคืนโดยยกกองทัพเข้าเมืองมาหลายครั้ง (ครั้งแรก พ.. ๒๓๑๘) พระยาจ่าบ้านป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดก็รักษาเมืองไว้ไม่ได้เพราะผู้คนมีน้อยและอยู่ในสภาพอดอยาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นว่า

“ … เจ้าพระยาจ่าบ้านมีกำลังฉกรรจ์ ๑,๙๐๐ ข้ามขางเวียงอยู่ ผู้คนเป็นอันอยากน้ำกั้นเข้ามามากนัก ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมา หัวบุกหัวบอน หัวกล้วย จั๊กก่า จะเล้อ จิ้งหรีด ตึ๋กแตน ก็บ่ค้าง …” และ ยามนั้นเวียงเชียงใหม่เป็นห่ารกอุกต้นอันด้วยคุ่มเครือเขาเถาวัลย์ เป็นที่แรดช้างเสือหมีผู้คนก็บ่หลายข้อนกันอยู่เท่าพอหมดแต่ร่มชายคาแลฯ หนทางเดินไปมาหากันเหตุว่าบ่มีโอกาสจักแผ้วจักถาง[1]

พระยาจ่าบ้านจึงต้องถอยไปตั้งมั่นที่วังพร้าวและลำปาง เมื่อกองทัพพม่ากลับไปพระยา   จ่าบ้านก็จะกลับไปตั้งเมืองเชียงใหม่อีกในช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นลักษณะกลับไปกลับมา และช่วงปลายสมัยธนบุรี เชียงใหม่ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างรวมทั้งเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยด้วย จะมีแต่เมืองลำปางที่เป็นแหล่งที่มั่นของฝ่ายไทย

การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ (.. ๒๓๓๙ - ๒๓๔๗)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พ.. ๒๓๒๕ พระยากาวิละพร้อมด้วยเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการและกราบบังคมทูลข้อราชการ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งเสียชีวิตลงในปลายสมัยธนบุรี[2] และโปรดเกล้าฯ ให้น้องพระยากาวิละดำรงตำแหน่งสำคัญในเมืองเชียงใหม่และลำปาง ดังนี้ เจ้าคำโสมเป็นเจ้าเมืองลำปาง เจ้าธรรมลังกาเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้าดวงทิพย์เป็นอุปราชเมืองลำปาง เจ้าหมูล่าเป็นพระยาราชวงศ์เมืองลำปาง และเจ้าคำฝั้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์เมืองเชียงใหม่[3] ต่อมาใน พ.. ๒๓๕๗ จึงได้เป็นเจ้าเมืองลำพูน[4]

จากการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวจะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่มีฐานะสูงกว่าเมืองลำปางและลำพูน ในระยะแรกบรรดาเจ้าเจ็ดตนจะเลื่อนตำแหน่งจากเจ้าเมืองลำพูนเป็นเจ้าเมืองลำปาง และจากเจ้าเมืองลำปางเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นลำดับ แต่ในเวลาต่อมาการเลื่อนตำแหน่งเจ้าเมืองจะแต่งตั้งจากเจ้านายบุตรหลานของเมืองนั้นเอง จึงเป็นการแยกราชวงศ์เชียงใหม่ วงศ์ลำปาง และลำพูนเด่นชัดยิ่งขึ้น สำหรับอำนาจสิทธิขาด เจ้าเมืองเชียงใหม่มีอาญาสิทธิ์สูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการใช้ดาบตัดศีรษะ เจ้าเมืองลำปางเข้าใจว่ามีสิทธิเพียงใช้หอกเสียบอก[5] และเจ้าเมืองลำพูนมีสิทธิลดลงอีกโดยใช้หอกเสียบบั้นเอว[6] อำนาจของเจ้าเมืองจึงลดหลั่นตามลำดับ

การที่รัชกาลที่ ๑ ทรงแต่งตั้งให้ตระกูลเจ้าเจ็ดตนครองเมืองเชียงใหม่และลำปางในทันที เข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ต้องการให้ร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ล้านนาไทย โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของล้านนาไทยขณะนั้นอยู่ในสภาพเมืองร้าง จำเป็นต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พร้อมกับกวาดล้างอิทธิพลของพม่าให้หมดไป พระยากาวิละจึงมีหน้าที่ สร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และโดยที่เชียงใหม่อยู่ในอิทธิพลพม่า พระยากาวิละไม่สามารถตั้งเมืองได้ทันที จึงเริ่มตั้งแต่ พ.. ๒๓๒๕ ด้วยการตั้งเวียงป่าซางก่อน และตั้งมั่นอยู่ถึง ๑๔ ปี จึงสามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.. ๒๓๓๙ ส่วนอิทธิพลของพม่าในล้านนาไทยถือว่าสิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่าปี พ.. ๒๓๔๗ โดยกองทัพเชียงใหม่รวมกับกองทัพฝ่ายไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของพม่าสำเร็จ



[1] คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๕

[2] ในช่วงปลายสมัยธนบุรี พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชลงโทษพระยาจ่าบ้านในข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้วผู้เป็นหลานใน พ.. ๒๓๑๙ เนื่องจากไม่พอใจที่อุปราชก้อนแก้วเก็บเสบียงอาหารโดยไม่แบ่งปันให้ พระยาจ่าบ้านเสียชีวิตในที่คุมขัง ส่วนพระยากาวิละต้องโทษฐานฆ่าข้าหลวง กล่าวคือ ปี พ.. ๒๓๒๒ พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีเวียงจันทน์ แม่ทัพทั้งสองได้แต่งข้าหลวง ๓๐๐ คนให้มาตรวจราชการทางเมืองน่าน แพร่ และลำปาง พวกข้าหลวงฉุดคร่าสตรีชาวพื้นเมือง พระยากาวิละขัดใจฆ่าข้าหลวงตายจำนวนมาก พระเจ้าตากสินมหาราชเรียกตัวให้พระยากาวิละเข้าเฝ้าถึงสองสามครั้งก็ไม่ไปเพราะพระยากาวิละคิดจะทำความชอบเสียก่อน หลังจากถูกลงโทษแล้วพระยากาวิละอาสาไปตีเมืองเชียงแสนแก้โทษ เมื่อกวาดเชลยมาไว้ที่ลำปางแล้วก็เป็นช่วงที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระยากาวิละจึงลงมาเฝ้า

[3] พระยาประชากิจกรจักร์, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๕๐ - ๔๕๑.

[4] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๕๐๗.

[5] เจ้าเมืองลำปางมีศักดิ์เทียบเท่าเจ้าเมืองหลวงพระบาง จึงเข้าใจว่ามีสิทธิในการประหารชีวิตในลักษณะเดียวกัน ดู เสาวภา ภาระพฤติ, “ปัญหาการปกครองของไทยในประเทศราชหลวงพระบางและหัวเมืองลาว ระหว่างปี พ.. ๒๔๓๑ - ๒๔๔๖” (ปริญญานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร, ๒๕๒๒) หน้า ๘๓

[6] เจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน ผู้ให้สัมภาษณ์ สรัสวดี ประยูรเสถียร ผู้สัมภาษณ์ที่คุ้มเจ้าพงศ์ธาดา เลขที่ ๓๗๘ ถนนอินทยงยศ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.. ๒๕๒๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Our links